ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความจากนิตยสาร New Scientist และ Plastic News แล้วสะกิดใจกับการประกาศกฎหมายใหม่ของหลายรัฐ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นรัฐแคลิฟอร์เนียหรือรัฐอิลลินอยด์ ว่าด้วยการห้ามใช้ Plastic Polyethylene Microbeads เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทที่ใช้ร่วมกับน้ำ เช่น โฟมล้างหน้า
ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่เคยใช้เครื่องสำอางประเภทดังกล่าวเช่นกัน เจ้าเม็ด “ไมโครบีดส์” ขนาดเล็กจิ๋วจิ๋วนี้ ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวทำลายระบบสิ่งแวดล้อม มันเป็นไปได้อย่างไรกัน???
ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีเม็ดไมโครบีดส์อาจรู้สึกถึงความสะอาดล้ำลึกและสบายผิว เพราะมันช่วยขัดเซลล์ผิวเสื่อมสภาพและทำความสะอาดได้ล้ำลึกถึงระดับรูขุมขน
แต่จากผลการศึกษาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ The United Nations Environment Programme พบว่ามีค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการกำจัดของเสียประเภทพลาสติกในระบบนิเวศทางทะเลในการกำจัดไมโครบีดส์คิดเป็นจำนวนเงินราว 13 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมถึงความสิ้นเปลืองของการใช้ทรัพยากรน้ำสะอาดในการบำบัด
จากรายงานดังกล่าว รัฐอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายห้ามการใช้เม็ดพลาสติกไมโครบีดส์ในการผลิต รวมถึงการวางจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียก็มีการลงมติ 47 – 13 เสียง และรัฐนิวยอร์ก 108 – 0 เสียงต่อกฎหมายฉบับดังกล่าว
เนื่องจากไมโครบีดส์มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม เม็ดไมโครบีดส์ปกติมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 1 มม. มีโอกาสหลุดรอดจากระบบบำบัดน้ำเสีย (Water Treatment) ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของรัฐนิวยอร์กเพียงรัฐเดียว พบว่า เม็ดไมโครบีดส์น้ำหนักโดยประมาณ 19 ตันต่อปี หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำใช้ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำได้บริโภคเอาไมโครบีดส์เข้าไป เนื่องจากเข้าใจว่ามันคืออาหาร!!! นอกจากนี้ เม็ดไมโครบีดส์ขนาดเล็กจิ๋วนี้ยังกระตุ้นก่อให้เกิดความเป็นอันตรายจากสารเคมีที่ลอยอิสระอยู่บนผิวน้ำ เช่น ยาฆ่าแมลง ได้อีกด้วย
สำหรับบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้ไมโครบีดส์ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดค่าปรับจำนวน 2,500 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อคดีความผิด โดยจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2562 (ค.ศ. 2019) โดยผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันประกาศหยุดการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของไมโครบีดส์แล้วอย่างเป็นทางการ ส่วนแผนการผลิตจะมีการทยอยปรับลดสัดส่วนการผลิตสินค้าประเภทดังกล่าว และจะสิ้นสุดการผลิตสินค้าที่ประกอบด้วยไมโครบีดส์ภายในปลายปี 2558 (ค.ศ. 2015)
หากคุณผู้อ่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ลองเขียนแชร์เรื่องราวเข้ามาที่ MASCIInnoversity ได้เลยนะคะ
ที่มา:
- http://www.newscientist.com
- http://www.plasticsnews.com
Related posts
Tags: Environment, Household Goods & Home Construction, Technology
ปัจจุบันโฟมล้างหน้าที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีหลายยี่ห้อที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจเเละรณรงค์ให้เลิกใช้สินค้าที่ส่วนผสมที่ทำลายสิ่งเเวดล้อม เช่นเดียวกับการรณรงค์หลายๆ อย่าง เช่น ลดการโฟมบรรจุอาหารเพื่อลดสารเรือนกระจก หรือให้ใช้ถุงผ้าเเทนเเทนถุงพลาสติก เป็นต้น
ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำในเรื่องนี้หรือไม่
เท่าที่ติดตามข่าวดู ยังไม่มีการห้ามใช้เม็ดพลาสติกในผลิตภัณฑ์เสริมความงามนะครับ จริงๆ แล้วก็น่าจะมีการออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาบังคับใช้นะครับ เพราะเม็ดพลาสติกพวกนี้ อย่างไรเสีย ก็ต้องไหลลงสู่แม่น้ำ และนักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่ามันมีขนาดเล็กและเบาจนลอยน้ำได้ ทำให้กำจัดออกจากแหล่งน้ำได้ยากและตัวของมันเองก็ย่อยสลายได้ยากด้วยครับ
ณ ปัจจุบัน กฎหมายว่าด้วยเรื่องดังกล่าว มีการประกาศเป็นกฎหมายระดับรัฐ และสถานะยังคงอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเข้าสู่การบังคับใช้คะ
โดยในบทความมีการยกตัวอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2019 คะ
ผู้ประกอบการที่ดีควรประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งพิจารณาทั้ง วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และผลผลิตพลอยได้
เห็นได้ว่าผู้ประกอบการยังละเลยในประเด็นข้างต้น จึงเป้นบทบาทของภาครัฐที่เน้นกำกับดูแลในเรื่องนี้ อยากให้เมืองไทยนำเรื่องนี้มาควบคุมบ้าง
เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ครับ โดยผู้ผลิตต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ครบทั้งวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคก็ควรให้ความสำคัญและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ส่วนใหญ่ส่วนผสมของเครื่องสำอางจะเป็นสารเคมีที่อาจมีผลต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม เราควรจะรณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่นโฟมล้างหน้าที่ทำจากมะหาดผสมน้ำมันมะพร้าว
นักพัฒนาผลิตภัณฑ์คงต้องทำงานหนักในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำมาทดแทนไมโครบีดส์ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้
ซึ่งในขณะนี้พบว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางบางแบรนด์ เช่น ยูนิลีเวอร์ (โดฟ,พอนส์) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (นิวโทรจิน่า, อวีโน) พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล หรือ P&G (แพนทีน,โอเลย์ ) และคอลเกตปาล์มโอลีฟ ได้ลดการใช้เม็ดพลาสติกไมโครบีดส์ หันมาใช้สารธรรมชาติอย่างอื่นทดแทนเช่น เกลือทะเล เม็ดแอพพริคอตหรือเปลือกวอลนัท ในโฟมล้างหน้า และครีมอาบน้ำ ฯ บ้างแล้ว
ไม่น่าเชื่อเลยว่าเจ้าเม็ดไมโครบีดส์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย แล้วผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นค่ะ
นอกจากปัญหานี้จะพบที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ที่ประเทศออสเตรเลียก็พบว่ามีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งทางรัฐนิวเซาทเวลส์ ก็มีความพยายามในการจัดการกับปัญหานี้ สามารถดูรายละเอียดได้จากลิงค์ http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/53217/ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีความตื่นตัว และมีมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับทั้งสองประเทศนี้นะคะ