ไอเอสโอกำลังสร้างความร่วมมือในระดับโลกเพื่อปรับปรุงและขยายมาตรฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยให้โลกปรับตัวและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 และมีผลกระทบต่อคนทั้งหมด ซึ่งคณะทำงานระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Chang: IPCC) ระบุว่า “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการที่ระบบสภาพภูมิอากาศมีความอุ่นขึ้นนั้นเป็นที่เห็นได้อย่างเด่นชัด”
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 1,300 คนจากทั่วโลกร่วมกันสรุปว่ามีความเป็นไปได้ถึง 90 % ที่ก๊าซเรือนกระจกเช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเธน และไนตรัสออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้อุณหภูมิของพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50 ปี โลกของเราร้อนขึ้นและเราสามารถเห็นได้จากหลักฐานของการสูญเสียน้ำแข็งในทะเล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล มหาสมุทรที่อุ่นขึ้น คลื่นความร้อนที่หนาแน่นมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์สุดขั้วอย่างไฟป่า ความแห้งแล้ง พายุฤดูร้อนและน้ำท่วม ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้น ในรายงานการประเมินฉบับที่ 4 IPCC ระบุว่าแนวโน้มภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของสถานีพลังงานและในรถยนต์ของเรานั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 1,300 ปีที่ผ่านมา
การประชุมประจำปี COP21 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2558 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้บรรลุการเจรจาในรอบ 20 ปีเป็นครั้งแรกด้วยการทำให้ข้อตกลงสากลและการผูกมัดเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิของโลกเอาไว้ไม่ร้อนมากขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียสและมีแนวโน้มจะนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศที่ผันผวนและการเกิดหายนะทางธรรมชาติ
ในเมื่อมนุษย์เรากำลังเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายโลกและอนาคตของเรา เราจึงต้องหาวิธีเร่งด่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น การลดก๊าซเรือนกระจกถูกกำหนดให้เป็นความพยายามพิเศษของโลกที่จะก้าวข้ามไปยังรัฐบาลและประชาชาติต่างๆ เป็นการทดสอบครั้งใหญ่สุดของความร่วมมือในระดับสากลและจำเป็นต้องมีมาตรฐานและวิธีปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดผลได้มากที่สุด
ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน มีมาตรฐานระหว่างประเทศที่จัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นในการสนับสนุนให้องค์การต่างๆ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานในตระกูล ISO 14064 เพื่อการวัด การรายงานและการทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งพัฒนาโดยคณะกรรมอนุกรรมการวิชาการ ISO/TC207/SC7 และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2549 (ค.ศ.2006) ซึ่งได้มีการใช้กันอย่างกว้างขวางเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบัน มีหน่วยงานประมาณ 40,000 แห่งทั่วโลกที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานด้านนี้ได้รายงานการปล่อยก๊าซหรือการกักเก็บคาร์บอนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาล มีส่วนร่วมในตลาดการค้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือเพื่อแสดงความเป็นผู้นำขององค์กรในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หน่วยงานต่างๆ ได้บรรลุถึงเป้าหมายของการปล่อยก๊าซในหลายด้าน รวมทั้งเทคโนโลยีและนโยบายสำหรับประสิทธิภาพด้านพลังงาน พลังงานคาร์บอนต่ำ พลังงานหมุนเวียนและอาคารสีเขียว เป็นต้น
แต่มาตรฐานต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเวลา ดังนั้น ไอเอสโอ จึงกำลังทบทวนมาตรฐานเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกที่เป็นหลักในกระบวนการทบทวนอย่างเข้มข้นซึ่งจะมีผลกระทบต่ออนาคตของการจัดการคาร์บอนทั่วโลก ในขณะที่แนวทางการแก้ไขสภาพภูมิอากาศได้ถูกขับเคลื่อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับล่างขึ้นไปหาระดับนโยบาย อย่างเช่น Intended Nationally Determined Contributions: INDCs ซึ่งทอม โบมานน์ ประธานคณะอนุกรรมการ ISO/TC 207/SC 7 และผู้อำนวยการการจัดการองค์ความรู้แห่งสถาบันการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Management Institute: GHGMI) ก็ได้กล่าวว่า ยังไม่เคยมีความต้องการมากมายขนาดนี้เพื่อระบบมาตรฐานสากลที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการวัด การรายงานและการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกมาก่อนจนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน
สำหรับคณะอนุกรรมการ ISO/TC 207/SC 7 ประกอบด้วยประเทศสมาชิกแบบมีส่วนร่วมจำนวน 57 ประเทศ ประเทศสมาชิกแบบสังเกตการณ์ 18 ประเทศและองค์กรพันธมิตร 18 แห่งรวมทั้ง UNFCCC, CDP (ชื่อเดิมคือ โครงการเปิดเผยคาร์บอน) ร่วมกับ World Business Council for Sustainable Development: WDCSD และ Gold Standard
คณะอนุกรรมการ ISO/TC 207/SC 7 จะมีแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกอย่างไร โปรดติดตามต่อไปใน องค์กรทั่วโลกร่วมกำหนดมาตรฐานช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอนที่ 2 ค่ะ
ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2031
ความเห็นล่าสุด