บทความเรื่อง “ยกระดับเตาปรุงอาหารด้วยมาตรฐานไอเอสโอ ตอนที่ 1” ได้นำเสนอเรื่องของเตาปรุงอาหารที่มีความ สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และการประชุมร่วมกันระหว่างไอเอสโอกับ International Workshop Agreement: IWA เกี่ยวกับเตาปรุงอาหาร เมื่อวันที่ 28 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 (2012) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้ไอเอสโอได้เตรียมการเรื่องนี้ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 285 เพื่อให้รัฐบาล อุตสาหกรรมและองค์กรทั่วโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ การนำไปใช้ และอัพเดทมาตรฐานที่จัดการกับหัวข้อที่มีความสำคัญ
ในสัปดาห์นี้ จะกล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ ที่คณะกรรมการวิชาการดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปล่อยก๊าซและสมรรถนะและประสิทธิภาพของเตาปรุงอาหาร ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยดังนี้
วิธีการที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตัวชี้วัด และการรายงาน (การอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ) อุปนิสัยด้านการปรุงอาหารในท้องถิ่น (การจับคู่ห้องปฏิบัติการทดสอบกับอุปนิสัยเชิงปฏิบัติและด้านวัฒนธรรมและเชื้อเพลิงที่มีอยู่) ความปลอดภัย (มีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ในการใช้เตาปรุงอาหารใกล้กับบริเวณที่อยู่ของเด็กและครอบครัว) ความทนทาน (เตาปรุงอาหารจำเป็นต้องมีความทนทานและง่ายต่อการดูแลรักษา) การทดสอบภาคสนาม (แนวทางสำหรับการทดสอบเตาปรุงอาหารและสมรรถนะของเชื้อเพลิงและการใช้ในสภาพชีวิตความเป็นจริง) และผลกระทบต่อสังคม (แนวทางวิธีการประเมินผลกระทบต่อสังคมเช่น การประหยัดเวลา ผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่)
เมื่อเร็วๆ นี้ ไอเอสโอจึงได้แต่งตั้งกลุ่มงาน (Working Group: WGs) 4 กลุ่มงานที่เน้นการพัฒนามาตรฐานและเอกสารที่จำเป็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเตาปรุงอาหารและเชื้อเพลิง ได้แก่ กลุ่มงานที่ 1 กรอบแนวความคิด (Conceptual framework) กลุ่มงานที่ 2 วิธีการทดสอบห้องปฏิบัติการ (Lab testing methods) กลุ่มงานที่ 3 วิธีการทดสอบภาคสนาม (Field testing methods) และกลุ่มงานที่ 4 ผลกระทบทางสังคม (Social impacts)
มาตรฐานที่อยู่ในระหว่างการพัฒนานี้ จะนำไปใช้ในการกำหนดกฎระเบียบของรัฐบาล สนับสนุนการบริจาค และการตัดสนใจด้านการลงทุนรวมทั้งผลักดันให้ผู้ผลิตพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป
ในปลายปี 2558 คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีส่วนร่วมจาก 25 ประเทศ ประเทศที่สังเกตการณ์ 15 ประเทศ และองค์กรผู้ประสานงานภายนอกสากลอีก 8 แห่ง รวมทั้งองค์การอนามัยโลก World Health Organization: WHO) ได้มาร่วมประชุมกันซึ่งประเทศกำลังพัฒนาที่มาร่วมประชุมเริ่มมีจำนวนมากขึ้นและประเทศเหล่านี้ก็มีความสำคัญเป็นลำดับแรกในการนำมาตรฐานนี้ไปใช้เพื่อช่วยในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนรวมทั้งตลาดเชื้อเพลิงด้วย
รันยีกล่าวว่ามีวิธีการปรุงอาหารหลายๆ วิธี และมาตรฐานก็จำเป็นต้องมีเพื่อสมรรถะที่ดีแต่เราจำเป็นต้องแน่ใจว่าทางเลือกของเทคโนโลยีนั้นเหมาะสมกับบริบทของวัฒนธรรมและสามารถนำไปใช้ได้กับทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น บ้านในชนบทส่วนใหญ่ เตาปรุงอาหารมักเป็นแบบเปิดและใช้เชื้อเพลิงเช่น ไม้ มูลสัตว์แห้งหรือสิ่งตกค้างจากการเกษตร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า เชื้อเพลิงชีวมวล (biomass fuel) นั่นเอง
ในประเทศฮอนดูรัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิคตอเรีย คอร์เตส แห่งศูนย์ความรู้และการทดสอบในภูมิภาค (Regional Testing and Knowledge Center: RTKC) มหาวิทยาลัยซามอราโน เมืองเตกุชิกอลปา (Tegucigalpa) ได้ตั้งเป้าหมายของโครงการระดับประเทศในการนำเทคโนโลยีเตาปรุงอาหารที่สะอาดไปใช้ และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เข้าร่วมในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 285 ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการวิชาการนี้ ทำให้ได้สร้างมาตรฐานที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ใช้กันในภูมิภาค เช่น เตาปรุงอาหารแบบกระทะแบนที่เรียกว่า พลันชา (plancha เป็นวิธีการปรุงอาหารที่มาจากประเทศสเปน โดยใช้จานโลหะร้อนและหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ วางลงบนจานที่มีไขมันเล็กน้อย) เป็นต้น ทำให้ได้ช่วยกำหนดแนวทางในการจัดระดับและการประเมินรูปแบบของเตาปรุงอาหาร มีการกระตุ้นให้ใช้นวัตกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของประเด็นปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและปัญหาทางเทคนิค
สำหรับศูนย์ความรู้และการทดสอบในภูมิภาคแล้ว มาตรฐานที่คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 285 อยู่ในระหว่างการพัฒนานั้น จะช่วยให้ศูนย์มีการเตรียมการประเมินที่มีคุณภาพสูงและมีส่วนในการกระจายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาดระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของสมรรถนะที่ได้รับการทดสอบแล้วและเชื่อถือได้
จริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการ คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 285 จึงอยากให้มีประเทศต่างๆ มากกว่านี้ได้มาเข้าร่วมพิจารณาพัฒนามาตรฐานและนำนโยบายไปใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงความไม่มีประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปรุงอาหารและก่อมลพิษซึ่งอาจกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าชื่นชมสำหรับพันธมิตรโลกซึ่งมีเป้าหมายอันแน่วแน่ในการที่จะทำให้บ้านเรือนจำนวน 100 หลังคาเรือนทั่วโลกมีโอกาสรับเอาเตาปรุงอาหารและเชื้อเพลิงที่สะอาดไปใช้งานภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) และความแน่วแน่ของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 285 ในการเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเชื่อว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีส่วนทำให้คนกว่าค่อนโลกมีการปรุงอาหารอย่างปลอดภัย
ไอเอสโอกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานครัวปรุงอาหารเพื่อให้ทั่วโลกมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน หากคุณผู้อ่านมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้ อย่าลืมแบ่งปันกับเราได้ที่ MASCI Innoversity ค่ะ
ที่มา:
1.http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2030
2.http://www.pciaonline.org/news/cookstoves-iwa-unanimously-approved
Related posts
Tags: Standardization
Recent Comments