รังสีไอออไนซ์ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงมากพอที่จะทำให้อิเล็กตรอนวงนอกสุดของวงโคจรหลุดออกจากอะตอม หรือโมเลกุล เมื่อรังสีนั้นชนกับอะตอมหรือเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในวัตถุ เกิดการสูญเสียอิเล็กตรอนหรือได้รับเพิ่มขึ้น เรียกว่า การไอออไนซ์ (ionization) ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร การวิเคราะห์ทางการแพทย์ รังสีบำบัด ระบบเอ๊กซเรย์ในสนามบิน เป็นต้น ในขณะเดียวกันรังสีก็เป็นอันตรายต่อมนุษย์เราด้วย
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าเราทุกคนมีโอกาสเปิดรับรังสีไม่มากก็น้อยระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การจำกัดการเปิดรับที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเพราะอวัยวะในร่างกายแต่ละส่วนจะตอบสนองต่อรังสีแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ผิวหนังจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากการมีปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเปื่อย หรืออวัยวะบางอย่างเช่น เลนส์แก้วตา หากเปิดรับต่อรังสีมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโรคต้อได้ เป็นต้น
ดังนั้น ในการปกป้องผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวข้องที่ต้องเผชิญหน้ากับรังสี จะมีการจำกัดปริมาณรังสีซึ่งได้รับการแนะนำจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องรังสี (International Commission on Radiological Protection: ICRP) เช่น ปริมาณรังสี 2.2 มิลลิซีเวิร์ตเป็นระดับรังสีปกติในธรรมชาติที่มนุษย์แต่ละคนได้รับในหนึ่งปี ปริมาณรังสี 5 มิลลิซีเวิร์ตเป็นเกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้สาธารณชนได้รับในหนึ่งปี และปริมาณรังสี 50 มิลลิซีเวิร์ตเป็นเกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีได้รับใน 1 ปี เป็นต้น
ไอเอสโอจึงกำหนดมาตรฐานการปกป้องรังสี ขั้นตอนการติดตามผลปริมาณที่รับได้สำหรับเลนส์แก้วตา ผิวหน้าและแขนขา (มือ นิ้ว ข้อมือ แขน เท้า และข้อเท้า) – ISO 15382:2015, Radiological protection – Procedures for monitoring the dose to the lens of the eye, the skin and the extremities ทั้งนี้ เพื่อวัดการเปิดรับระดับของรังสีของอวัยวะต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งปัจจุบัน มาตรฐานนี้ได้รับการทบทวนและนำมาพิจารณาถึงข้อจำกัดใหม่ในปริมาณที่เที่ยบเท่าสำหรับเลนส์แก้วตาที่ได้รับการแนะนำโดย ICRP
มาตรฐานนี้ใช้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบการติดตามตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจในความสอดคล้องกับการจำกัดปริมาณรังสีตามกฎหมาย ซึ่งมีการอ้างอิงไปยังปริมาณในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและให้แนวทางชนิดของความถี่ของการตรวจติดตามแต่ละคนรวมทั้งชนิดและตำแหน่งของอุปกรณ์วัดปริมาณรังสี
อแลง รองนู ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีและประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ ISO/TC 85/SC 2 ซึ่งเป็นคณะกรรมการวิชาการที่พัฒนามาตรฐาน ISO 15382:2015 กล่าวว่ามาตรฐานฉบับใหม่นี้ได้นำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ล่าสุดจากการศึกษามาพัฒนาและช่วยปรับปรุงการวัดปริมาณรังสีที่ใช้เป็นประจำตามปกติ
ISO 15382: 2015 ยังได้ขยายไปในสาขาการแพทย์และจะช่วยให้มีการปรับปรุงการติดตามการวัดที่ทำกันเป็นประจำตามปกติของคนทำงานซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะได้รับรังสีผ่านอวัยวะต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งเลนส์แก้วตา
ISO 15382: 2015 สามารถศึกษาได้จากห้องสมุดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือหาซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ(http://www.iso.org/iso/home/store/catalogue_tc/catalogue_detail.htm?csnumber=61582)
ที่มา: 1.http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2036
2.http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1525/ionizing-radiation-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B9%8C
3.http://www.rmutphysics.com/physics/oldfront/65/nuclear1/icrp.html
Related posts
Tags: Standardization
Recent Comments