ปัจจุบัน มนุษย์สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้และสิ่งที่ช่วยสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ก็คือ ISO/TS 15066 ข้อกำหนดทางเทคนิคของไอเอสโอสำหรับความปลอดภัยระบบหุ่นยนต์ความร่วมมือนั่นเอง (ISO/TS 15066: 2016, Robots and robotic devices – Collaborative robots)
คำว่าความร่วมมือมีรากศัพท์เป็นภาษาลาติน มาจากคำว่า Con แปลว่า ร่วมกัน และ laborare แปลว่า ทำงาน ความร่วมมือในการทำงานนี้จำเป็นต้องมีการจำกัดพื้นที่การทำงานร่วมกันตามที่มีการะบุไว้อย่างแม่นยำด้วย
หุ่นยนต์ความร่วมมือเป็นระบบหุ่นยนต์ที่ปฏิบัติการแบบอัตโนมัติซึ่งทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น จึงอ้างไปถึงระบบหรือการนำไปใช้มากกว่าหุ่นยนต์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งหรือแบบใดแบบหนึ่ง หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้รวมถึง end effector ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ปลายแขนหุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในขณะที่ระบบหุ่นยนต์ทำงาน
ระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมักจะถูกแยกออกจากมนุษย์เพื่อปกป้องจากการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีใหม่ จึงมีศักยภาพที่จะมีความก้าวหน้าในด้านความปลอดภัยอันนำมาซึ่งพละกำลังและความแม่นยำของหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้วยมนุษย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
โนเบอร์ต้า เนลสัน เชีย ผู้วางแผนงานของ ISO/TC 299/WG 3 คณะทำงานความปลอดภัยของหุ่นยนต์ของไอเอสโอ อธิบายว่า เมื่อทำงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (ISO 10218-1 และ ISO 10218-2) มักจะมีการอภิปรายกันในเชิงปรัชญาด้วย เช่น การนำหุ่นยนต์ไปใช้งานจะเป็นอันตรายหรือไม่ต่อมนุษย์ ทำไมถึงไม่อนุญาตให้มี การสัมผัส ดังนั้น มาตรฐาน ISO 10218 จึงอภิปรายถึงเทคนิค 4 ประการในการทำงานร่วมกัน การทำงานในคณะทำงาน ISO/TC 299/WG 3 เริ่มด้วยแนวคิดที่ว่า ถ้ามีการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในเหตุการณ์ใดๆ แล้ว ก็ไม่ควรที่ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บในการทำงาน
แคโรล แฟรงคลิน เลขานุการของ คณะทำงาน ISO/TC 299/WG 3 กล่าวว่า ความจริงแล้ว เมื่อหุ่นยนต์ทำงานอยู่ข้างๆ มนุษย์ เราต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ว่าการใช้งานหุ่นยนต์จะไม่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย และนับจนถึงบัดนี้ ผู้ผลิตระบบหุ่นยนต์และผู้ใช้งานก็เพียงแต่มีข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับระบบความร่วมมือ ดังนั้น ISO/TS 15066 จึงเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เลยทีเดียว มาตรฐานนี้จะทำให้มีแนวทางความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนได้ด้วยข้อมูลและมีความเฉพาะเจาะจงที่จำเป็นสำหรับการประเมินและควบคุมความเสี่ยง
ข้อกำหนดทางเทคนิคใหม่ได้เปิดโอกาสมากมายให้กับอุตสาหกรรม ทำให้มีความมั่นใจและนำทางระบบหุ่นยนต์ให้กับทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน พัฒนาและการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปใช้งาน
หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์นั้น อุปกรณ์หุ่นยนต์และมนุษย์สามารถมีพื้นที่การทำงานที่เหลื่อมกันอยู่ได้ ISO/TS 15066 จึงให้แนวทางสำหรับการออกแบบและการนำไปใช้ของสถานที่ทำงานร่วมกันซึ่งลดความเสี่ยงให้กับมนุษย์ ซึ่งมีการระบุถึง
- คำนิยาม
- คุณลักษณะที่สำคัญของระบบควบคุมความปลอดภัย
- ปัจจัยที่คำนึงถึงในการออกแบบระบบหุ่นยนต์ความร่วมมือ
- ระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ
- แนวทางการนำเทคนิคความร่วมมือไปใช้งาน ดังต่อไปนี้ ได้แก่ การหยุดที่ได้มีการติดตามและวัดระดับความปลอดภัยแล้ว หรือ Safety-rated monitored stop (หุ่นยนต์จะหยุดเมื่อผู้ปฏิบัติงานเข้ามาในพื้นที่ทำงานร่วมและเริ่มทำต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงานจากพื้นที่นั้นไป) การนำทางของการใช้มือ (การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ได้รับการควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงาน) การติดตามแยกส่วนและความเร็ว (การสัมผัสระหว่างผู้ปฏิบัติงานและหุ่นยนต์ที่กำลังเคลื่อนไหวจะได้รับการป้องกันโดยหุ่นยนต์) และการจำกัดการบังคับและพละกำลัง (พละกำลังของการสัมผัสระหว่างผู้ปฏิบัติงานและหุ่นยนต์มีการจำกัดทางเทคนิคให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย)
สำหรับมาตรฐาน ISO/TS 15066 อุปกรณ์ที่ใช้ปกป้องและดูแลมนุษย์ให้อยู่ห่างจากกันแบบเดิมๆ อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับการใช้งานที่มีการจำกัดด้านพละกำลังที่มีการนำไปใช้ที่สอดคลัองกับมาตรฐาน ISO 10218-1 และ ISO 10218-2 ข้อกำหนดทางเทคนิคนี้รวมถึงข้อมูลจากการศึกษาเชิงลึกถึงส่วนที่แตกต่างกันของร่างกายมนุษย์ด้วย ข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาและนำไปใช้ในด้านการจำกัดพละกำลังหุ่นยนต์
อีกทางหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์และความร่วมมือระบบหุ่นยนต์ก็คือในเรื่องของความเร็วและเทคนิคการติดตามการแยก ในระบบเช่นนี้ ระยะห่างของความปลอดภัยขั้นต่ำระหว่างระบบหุ่นยนต์กับมนุษย์จะได้รับการดูแลรักษาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส ลองจินตนาการดูว่าระบบหุ่นยนต์ที่มีการรวมเข้ากับอุปกรณ์ปกป้องที่ทำให้มนุษย์รับรู้ความรู้สึก ระบบหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวไปมาหรือเต้นรำกับมนุษย์ ดังนั้น ถ้าคุณก้าวไปข้างหน้า ระบบหุ่นยนต์ก็จะถอยหลังไปหนึ่งก้าวเช่นกัน
ข้อกำหนดทางเทคนิคนี้จะให้แนวทางรายละเอียดสำหรับความเร็วที่อนุญาตให้มีได้ในขั้นสูงสุดและระยะห่างจากกันในขั้นต่ำสุด ข้อกำหนดนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กิดความก้าวหน้าของอุปกรณ์ปกป้องต่อไปเช่นเดียวกับการพัฒนาวัสดุที่ทำให้การสัมผัสทางกายภาพมีความอ่อนนุ่มขึ้น มีระบบตรวจจับสัญญาณที่ดีขึ้น การควบคุมการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นและนวัตกรรมในด้านอื่นๆ
ไอเอสโอมีคณะทำงานใหม่ คือ ISO/TC 299 ที่อุทิศตนให้กับการพัฒนามาตรฐานอุปกรณ์หุ่นยนต์และหุ่นยนต์ จนกระทั่งสามารถพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องได้แล้วจำนวน 13 ฉบับ
ท่านที่สนใจมาตรฐาน ISO/TS 15066:2016, Robots and robotic devices – Collaborative robots สามารถศึกษาได้จากห้องสมุดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสั่งซื้อได้จาก ISO Store
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2057
2. http://www.eu-nited.net/robotics/upload/pdf/150181VDMA_RA_Sicherheit_Mensch_E_K1_Screen.pdf
3. http://www.iso.org/iso/home/standards_development/list_of_iso_technical_committees/iso_technical_committee.htm?commid=5915511
Related posts
Tags: ISO/TS 15066:2016, robot, Robotic, Standardization
Recent Comments