การเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญและยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากในการซื้อหาสินค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การติดฉลากหรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนผลิตภัณฑ์หรือหีบห่อจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานฉลากด้านสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงมุมมองที่เกี่ยวข้องของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
ในภาวะที่ผู้บริโภคแวดล้อมไปด้วยฉลากมากมายและอาจเกิดความรู้สึกสับสน ไอเอสโอได้ประกาศมาตรฐานฉบับใหม่ล่าสุด คือ ISO 14021: 2016 ฉลากและการประกาศด้านสิ่งแวดล้อม – การประกาศตนเองด้านสิ่งแวดล้อม (การติดฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2) (Environmental labels and declarations – Self-declared environmental claims (Type II environmental labelling) ซึ่งจะช่วยจัดการให้การอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแบบสมัครใจของบริษัทต่างๆ ในผลิตภัณฑ์เป็นไปด้วยดี
มาตรฐานนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตและธุรกิจที่ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดเตรียมรายการข้อกำหนดทั่วไปที่จะได้รับการติดตามเมื่อมีการใช้มาตรฐานแล้ว มีการระบุคำที่เลือกใช้ร่วมกันในการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีการให้คุณสมบัติสำหรับการใช้ฉลาก และอธิบายการประเมินทั่วไปและวิธีการทวนสอบสำหรับการประกาศการอ้างด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
เจนนี่ ฮิลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญที่ได้พัฒนามาตรฐานดังกล่าวและอยู่ในคณะอนุกรรมการของไอเอสโอISO/TC 207/SC 3, ฉลากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Environmental labelling ISO 14021:2016) กล่าวว่ามาตรฐาน ISO 14021: 2016 เป็นเอกสารที่มีความสำคัญสำหรับการเตรียมแนวทางให้กับธุรกิจที่ต้องการอ้างถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องการใช้การรับรองโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายไม่น้อยไปกับกระบวนการด้านการรับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาในการนำไปใช้งานเพื่อช่วยในเรื่องการส่งออกสินค้า
เจนนี่ ฮิลลาร์ด กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว ISO 14021 ไม่ได้ต้องการให้มีการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่โฟกัสไปที่การบอกเล่าหรือให้ข้อมูลที่ดีที่สุดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภคเข้าใจความหมายนั้นมากกว่า
ข้อกำหนดดังกล่าว มีองค์ประกอบ 3 ประการที่เกี่ยวข้องซึ่งนับว่าเป็นกฎเบื้องต้นสำหรับการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
1. การใช้สัญลักษณ์ เรื่องนี้เป็นการจัดการกับข้อเท็จจริงที่ว่าการอ้างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่แค่เกี่ยวข้องกับการใช้ตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้รูปภาพ สัญลักษณ์หรือโลโก้
2. การประเมินและข้อกำหนดเกี่ยวกับการทวนสอบการอ้างถึง สำคัญมากที่การอ้างนั้นจะต้องได้รับการทวนสอบก่อนและข้อมูลนั้นต้องมีให้สำหรับใครก็ตามที่ร้องขอ
3. ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการอ้างที่ถูกคัดเลือก ซึ่งหมายความว่า การอ้างบางอย่างมีการใช้งานมากกว่าด้านอื่นๆ เช่น สินค้าที่รีไซเคิล หรือสินค้าที่ย่อยสลายได้
มาตรฐานนี้ยังระบุด้วยว่าการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแบบหลวมๆ หรือไม่ชัดเจนนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การอ้างที่กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (environmentally friendly), “สีเขียว” (green) หรือ “เป็นเพื่อนกับธรรมชาติ” (nature’s friend) เป็นต้น
มาตรฐานระหว่างประเทศดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้บริโภค ร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม โดยวัตถุประสงค์การใช้งานที่ต้องการให้ผู้ใช้สามารถประกาศตนเองในการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยจะได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้
– ทำให้มีการอ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่แม่นยำและทวนสอบได้ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจในทางที่ไม่ถูกต้อง
– มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่นำไปสู่การส่งเสิรมเกี่ยวกับการผลิต กระบวนการ และผลิตภัณฑ์
– ป้องกันหรือลดการเคลมสินค้าด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น
– ลดความสับสนเกี่ยวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด
– อำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศ
– เพิ่มโอกาสให้กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อที่มีศักยภาพและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในการมีทางเลือกมากขึ้นในการรับข้อมูลข่าวสารด้านฉลากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ไอเอสโอได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาตรฐาน ISO 14021:2016 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 และสามารถใช้แทนมาตรฐานฉบับปี 1999 ซึ่งสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ (http://www.iso.org/iso/home/store.htm)
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2066
2. http://www.iso.org/iso/environmental-labelling.pdf
Related posts
Tags: Environment, ISO, Standardization, Sustainability
ความเห็นล่าสุด