โดยทั่วไป องค์กรต้องการมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่จะช่วยปรับปรุงความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมไปพร้อมๆ กับการลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องคัดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานและให้การฝึกอบรมและศึกษาดูงานตามเป้าหมาย
แต่จากการศึกษาการผลิตของบริษัททั่วโลกมากว่าสองทศวรรษ เอ็มไอทีได้เรียนรู้ว่าความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานนั้นไม่ใช่เพียงแต่มาจากการนำวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพใส่เข้าไปในกระบวนการเท่านั้น แต่ยังต้องมีการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและความคาดหวังในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นจากพนักงานทุกคนด้วย สิ่งสำคัญไม่ใช่กระบวนการ แต่เป็น “คน” นั่นเองที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่น่าทึ่ง
สิ่งที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์อันน่าทึ่งเกิดขึ้นได้ต้องมาจากนักพัฒนาที่ทำงานด้วยความรู้ที่ดีขึ้นและได้รับการสนับสนุนด้านกระบวนการออกแบบที่ดี
การออกแบบในขั้นสุดท้าย รวมถึงผลิตภัณฑ์ การผลิต และข้อกำหนดของซัพพลายเชน เป็นผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายที่ซับซ้อนของการติดสินใจทางเทคนิคที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน สิ่งที่นักพัฒนามีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการตัดสินใจ (ทุกสิ่งมาจากการมองปัญหา การเลือกแนวคิด และการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อจำกัดของการทดสอบโปรโตไทป์) ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบลีนไม่เพียงแต่ที่เราจะติดตามขั้นตอนที่ถูกต้องได้เท่านั้น แต่ยังติดตามวิธีการทำงานด้วย จริงๆ แล้ว มีหลายกรณีที่บริษัทได้เดินตามกระบวนการที่ดีแต่กลับได้รับผลลัพธ์ที่เลวร้าย จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการที่จะต้องเข้ามาจัดการซึ่งก็มักจะลงเอยที่การตำหนิกระบวนการแล้วค่อยเพิ่มวิธีปฏิบัติที่ดีเข้าไปให้มากขึ้น เพิ่มจุดตรวจสอบให้มากขึ้น และเปลี่ยนแปลงผังการทำงาน แต่กลับพบว่าผลลัพธ์ก็ยังเลวร้ายลงเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นจนกว่าองค์กรจะมองคนเป็นศูนย์กลางและผู้นำต้องลงมือทำสิ่งที่สอดคล้องต้องกัน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบลีนค่อนข้างเป็นคำที่ใหม่ แต่แนวคิดนั้นมีมานานกว่าสามทศวรรษแล้ว ในช่วงปี 2523 – 2532 (ค.ศ.1980 – 1989) การศึกษาของเอ็มไอทีพบว่าบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นได้ปฏิบัติตามแนวทางที่แตกต่างจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ นับตั้งแต่ในโรงงานผลิตไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในการบริหารซัพพลายเชน โดยจอห์น คราฟฟิค ชาวอเมริกันที่เป็นนักวิจัยอยู่ที่บริษัท นิวยูไนเต็ดมอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง (NUMMI) ได้นำเรื่องของกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมาเขียนลงในวารสาร Sloan Management Review เมื่อปี 2531 (ค.ศ.1988) โดยเป็นผู้เสนอคำว่า “ลีน” ที่เป็นรู้จักกันอย่างดีในแวดวงอุตสาหกรรม
ตอนนั้น นักวิจัยเริ่มอ้างถึงประสิทธิภาพของแนวทางแบบญี่ปุ่นว่าเป็น “ลีน” ผลวิจัยที่ตามมาได้เน้นไปที่แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาของโตโยต้ามอเตอร์คอร์ปอเรชั่น แล้วเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอเมริกาเหนือ และเมื่อบริษัทนำเอาการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบบลีนก็หยั่งรากลึกลงไปอีก แต่ว่าบทบาทที่สำคัญของคนดูเหมือนจะถูกมองข้ามไป
การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาแบบลีนเป็นเรื่องที่น่าสนใจและผู้วิจัยได้เล่าถึงประสบการณ์และข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของคนในองค์กรไว้อย่างน่าสนใจ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าค่ะ
ที่มา: 1. http://sloanreview.mit.edu/article/why-learning-is-central-to-sustained-innovation/?use_credit=db20613d4556a700b9a55120254dfa1b
2. http://techno.kpru.ac.th/logistics/index.php/e-learning/13-e-learning/16-4?showall=1&limitstart
Related posts
Tags: Innovation, lean
ความเห็นล่าสุด