อาหารที่ไม่ปลอดภัยอาจส่งผลกระทบถึงขั้นเสียหายร้ายแรงทั้งต่อผู้บริโภคและต่อธุรกิจอาหารทั่วโลก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ดังนั้น ISO 22000 จึงมีความจำเป็นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะในเรื่องของซัพพลายเชนอาหาร และปัจจุบัน ไอเอสโอกำลังทำการทบทวนแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น
หลังจากมีการใช้มาถึงสิบปี มาตรฐาน ISO 22000 ระบบบริหารจัดการด้านอาหารได้รับการทบทวนแก้ไขให้ทันสมัยด้วยคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ คณะทำงาน ISO/TC 34/SC 17/WG 8 โดยมีเลขานุการคือสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศเดนมาร์ก (Danish Standards Foundation: DS) ซึ่งได้จัดการประชุมครั้งที่ 4 ไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า
มาตรฐาน ISO 22000 นี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนร่างมาตรฐานของคณะกรรมการ (Committee Draft: CD) และผู้เชี่ยวชาญได้ทำงานร่วมกับคณะทำงานในการกลั่นกรองข้อคิดเห็นกว่า 1,000 เรื่อง สำหรับวาระการประชุมที่กรุงบัวโนสไอเรส มีการพิจารณารวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ และนำไปใช้ในการปรับปรุงเอกสารมาตรฐาน พร้อมกันนั้น คณะทำงาน ISO/TC 34/SC 17/WG 8 ก็ได้อธิบายถึงแนวคิดหลักบางประการดังต่อไปนี้
- การประยุกต์ใช้แนวคิดใหม่ของไอเอสโอในมาตรฐาน ISO 22000 คือ High-Level Structure (HLS)
ซึ่งไอเอสโอได้นำมาใช้กับมาตรฐานระบบการจัดการที่มีการทบทวนใหม่ทุกมาตรฐาน กลุ่มโครงสร้างใหม่นี้มีการกำหนดเป็นกรอบการทำงานที่จะช่วยให้ทุกธุรกิจที่นำมาตรฐานใหม่ไปใช้มีความสะดวกมากขึ้น
- การทำให้ผู้ใช้งานมาตรฐาน ISO 22000 เข้าใจแนวคิดของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แนวคิดของ “ความเสี่ยง” มีการนำไปใช้ได้หลายวิธีและมีความสำคัญกับธุรกิจอาหารในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างการประเมินอันตรายในอาหาร (hazard) ในระดับปฏิบัติการผ่านการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis Critical Control Point: HACCP) ในกระบวนการผลิตอาหาร กับ ความเสี่ยงทางธุรกิจซึ่งโอกาสเป็นตัวกำหนดแนวคิดส่วนหนึ่ง
- การให้ความกระจ่างชัดขึ้นถึงวงจร PDCA ซึ่งรวมอยู่ในมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารและการปฏิบัติการตามที่มีการอธิบายไว้ใน clause 8 ซึ่งครอบคลุมหลักการตามที่ Codex Alimentarius Commission ระบุไว้
- การทำให้ผู้ใช้งานได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างจุดควบคุมวิกฤต (Critical Control Points: CCPs) โปรแกรมควบคุมก่อนที่จะเกิดอันตรายและโปรแกรมควบคุมอันตรายให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (Operational Prerequisite Programmes: OPRPs และ Prerequisite Programmes: PRPs)
ป้องกันอันตรายด้านอาหารอย่างครบวงจร
การป้องกัน การลดหรือการกำจัดอันตรายด้านอาหารมีความสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร นับตั้งแต่ออกจากฟาร์มไปสู่โต๊ะอาหาร
มาตรฐาน ISO 22000 ที่มีการทบทวนดังกล่าวจะรวมถึงองค์ประกอบหลักต่างๆ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าอาหารมีความปลอดภัยทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งรวมถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- การสื่อสารที่มีปฏิสัมพันธ์ตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร
- แนวทางเชิงระบบของการบริหารจัดการ
- โปรแกรมที่ต้องมีการควบคุมก่อนการดำเนินการ
- หลักการของ HACCP
ความปลอดภัยด้านอาหารสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร จึงมีความจำเป็นในการควบคุมทุกขั้นตอนระหว่างทางให้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ การสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้มั่นใจว่ามีการระบุถึงขั้นตอนที่อาหาอาจเป็นอันตรายและเข้าจัดการในระดับที่เหมาะสม ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร นับตั้งแต่ผู้ผลิตเพื่อป้อนวัตถุดิบให้โรงงาน ผู้ผลิตอาหารขั้นต้นและผู้ผลิตอาหารในโรงงาน ผู้ที่ทำการขนส่งและจัดเก็บอาหาร ผู้รับจ้างช่วงไปจนถึงผู้ค้าปลีก
คณะทำงาน ISO/TC 34/SC 17/WG 8 ยังมีงานที่ท้าทายอยู่รออยู่ข้างหน้า สำหรับร่างที่สองของมาตรฐานจะมีการประชุมพิจารณาทบทวนระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2559 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
โปรดติดตามความคืบหน้าของมาตรฐาน ISO 22000 ใน MASCI Innoversity ในเร็วๆ นี้ค่ะ
ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2075
Related posts
Tags: food safety, ISO22000, standard, Standardization
Recent Comments