เมื่อมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่จะมีการวัด (measurements) เกิดขึ้น แต่การมีหน่วยวัดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความคงเส้นคงวา เชื่อถือได้ และมีมาตรฐานเพื่อทำให้สามารถเกิดความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศและมีการปฏิบัติงานร่วมกันได้ วิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวัดนี้เรียกว่า “มาตรวิทยา” (Metrology)
วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันมาตรวิทยาโลก สำหรับปีนี้ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแห่งศาสตร์ด้านการวัดและโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กำหนดหัวข้อวันมาตรวิทยาโลกในปีนี้ คือ “การวัดในโลกแห่งพลวัต” (Measurement in a Dynamic World)
สำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures: BIPM) และองค์การสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลในการประสานงานมาตรวิทยาด้านกฎหมาย (the International Organization of Legal Metrology: OIML) ให้ความสำคัญกับวันมาตรวิทยาโลกในแง่ของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การผลิตเชิงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและปกป้องโลกของเรา ดังนั้น หากเราดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากการวัดที่เชื่อถือได้แล้ว ชีวิตของเราคงจะตกอยู่ในความยุ่งเหยิงและความไม่แน่นอน
การมาตรฐานในด้านมาตรวิทยาไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับการระบุหน่วยของการวัดเท่านั้น แต่ไอเอสโอยังได้กำหนดมาตรฐาน ISO/IEC Guide 99 – International vocabulary of metrology – Basic and general concepts and associated terms เพื่อจัดทำคำนิยามศัพท์ระหว่างประเทศด้านมาตรวิทยา รวมทั้งให้การอ้างอิงร่วมกันสำหรับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ครูอาจารย์ นักปฏิบัติ และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือการปฏิบัติด้านการวัดทุกประเภท
ฌอน แม็คเคอร์เทน เลขานุการของคณะกรรมการประเมินความสอดคล้องของไอเอสโอ หรือ ISO/CASCO กล่าวว่ามาตรวิทยาเป็นหนึ่งในหลายๆ เสาหลักแห่งโครงสร้างด้านคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำการวัดผลิตภัณฑ์ด้านความแข็งแรงแล้วเกิดความไม่ถูกต้อง อาจจะเกิดการแตกหักเสียหายหรือทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือถ้าหากไม่มีการสอบเทียบอุณหภูมิของเตาอบที่โรงงาน สิ่งที่เรานำมาอบก็อาจจะสุกหรือดิบเกินไปตามที่คาดหวัง เป็นต้น
ดังนั้น มาตรวิทยาจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกำหนดความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์และทำให้เกิดพื้นฐานของการสอบเทียบและการทดสอบ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไม่มีมาตรวิทยาที่กฎหมายเข้ามาดูแลด้วยแล้ว ผู้บริโภคก็จะไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ได้รับ เช่น เวลาที่เราซื้อแป้งหนึ่งกิโลกรัม เราจะไม่ทราบเลยว่าแป้งที่เราซื้อมามีน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมจริงๆ หรือไม่ เป็นต้น BIPM และ OIML กำลังเข้ามาช่วยคณะกรรมการของไอเอสโอดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรวิทยา
วันมาตรวิทยาโลกเป็นการเฉลิมฉลองสนธิสัญญาด้านการวัดที่ได้มีการลงนามที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1875 โดยผู้แทนจาก 17 ประเทศซึ่งได้ร่วมกำหนดกรอบการทำงานด้านมาตรวิทยาให้เป็นความร่วมมือระดับโลกทั้งในด้านสังคม อุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ เป้าหมายดั้งเดิมของสนธิสัญญาด้านการวัดคือการทำให้ทั่วโลกมีการวัดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้กระทั่งจวบจนปัจจุบัน ในโลกแห่งพลวัต เรื่องนี้ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มา http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2082
Related posts
มาตรฐานไอเอสโอสำหรับนวัตกรรมยานยนต์
ไอเอสโอแนะมาตรฐานใหม่เพื่อความสำเร็จของทุกธุรกิจ
วันหน่วยรับรองระบบงานโลก
ไอเอสโอปรับปรุงมาตรฐานสัญลักษณ์ความปลอดภัย
ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานใหม่ล่าสุดสำหรับชา
Tags: Metrology, standard, Standardization
ความเห็นล่าสุด