อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในด้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นมและเนื้อวัวที่ปนเปื้อนเนื้อม้าที่ปนอยู่ในเบอเกอร์แช่แข็งและอาหารสำเร็จรูป หรือไข่ปลอม ในขณะที่บริษัทชั้นนำต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะสร้างความเชื่อมั่นในอาหารกลับคืนมาให้กับผู้บริโภค แล้วเราจะเชื่อมั่นในอาหารที่เรารับประทานได้แค่ไหน
อาหารปลอมปนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานบนโลกนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตร้านขายของชำ (Grocery Manufacturers Association Food) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผลที่ตามมาของอาหารปลอมปนนั้นทำให้ร้านค้าปลีกอาหารที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต้องเสียค่าใช้จ่ายไปมากถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ การตกแต่งส่วนผสมของอาหารเป็นสิ่งปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไปทั่วโลก แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจทำให้เรามีปัญหา เช่น ในประเทศอิตาลี น้ำมันมะกอกด้อยคุณภาพถูกนำไประบุว่าเป็นน้ำมันมะกอกคุณภาพสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยาได้เตือนผู้บริโภคว่าฉลากของชีสที่ระบุว่าเป็นพาร์เมซาน 100% อาจมีส่วนผสมราคาถูกปนอยู่ด้วย (ชีสคุณภาพต่ำหรือเยื่อไม้) และปลาที่ถูกฉีดด้วยน้ำเกลือ เป็นต้น
ส่วนผสมที่ด้อยคุณภาพเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อาหารที่ปลอมปนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แย่ยิ่งกว่า ในช่วงปี 2523 – 2532 (ค.ศ.1980-1989) คนจำนวนมากในประเทศสเปนเสียชีวิตจากอาหารที่ใช้ปรุงมีการปนเปื้อน และเมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศจีน เมลามีนถูกค้นพบในนมผงสำหรับเด็ก ทำให้เด็กเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่อาหารมีเพิ่มมากขึ้นและมีความซับซ้อนซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารทุกวันนี้ ต่างก็ก้าวข้ามพรมแดนออกไปและเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการปลอมปนในอาหารได้ จากวารสารไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่าปลาค็อดโดยเฉลี่ยสามารถเดินทางไป 10,000 ไมล์ก่อนจะไปเป็นอาหารจานหนึ่ง ปลาค็อดอาจถูกจับในทะเลแบริ่งแล้วถูกแช่แข็งในโรงงานในภาคตะวันออกของประเทศจีน แล้วขนส่งไปเพื่อผ่านกระบวนการทางอาหารในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา สุดท้ายกลายเป็นปลาทอดอัดแท่งอยู่ในมอสโค ดังนั้น การเดินทางจากฟาร์มสู่จานอาหารจึงมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนได้ในห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ ประชากรทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นและโลกที่มีความซับซ้อนและเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการกำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานในระดับสากล การปลอมปนของอาหารนับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นและยากที่จะติดตาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีปลอมปนเนื้อมาในเบอร์เกอร์ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องใช้ความพยายามในการจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นแต่อาจทำอะไรไม่ได้มากนักนอกจากให้ข่าวเพื่อเตือนผู้บริโภค
แล้วในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอาหาร จะทำอย่างไร วารสารไอเอสโอโฟกัสได้ถามผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมในมุมมองและประเด็นที่จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับผู้บริโภค ซึ่งต้องทำให้มั่นใจว่าอาหารที่ผู้ริโภคซื้อไปเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ ดังนั้น มาตรฐานในตระกูล ISO 22000 จึงเป็นมาตรฐานที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นดังกล่าว
การรับรองตามมาตรฐาน ISO 22000 เป็นการรับรองว่าอาหารเป็นไปตามมาตรฐานและมีความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังมีการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Management System: FSMS) ซึ่งแอลดิน ฮิลแบรนด์ ผู้อำนวยการโครงการทางเทคนิคของการรับรอง FSSC 22000 (โครงการได้รับการยอมรับจากโครงการความปลอดภัยอาหารโลกหรือ Global Food Safety Initiative) กล่าวว่าโครงการได้สนับสนุนบริษัทอาหารโดยปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบตามโครงการการรับรอง FSSC 22000 เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
เขาเน้นว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นวิธีการในระยะยาวที่จะฟื้นฟูความเชื่อถือและสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้า ทั้งสองฝ่ายต่างมีความต้องการที่จะปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค แต่ในหลายประเทศ ภาครัฐและเอกชนยังไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารที่มีคุณภาพดี มีคุณค่าทางโภชนาการและในราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายได้เป็นความท้าทายอย่างมาก อันที่จริงแล้ว ปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารมักเกิดจากการปนเปื้อนโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจอาหารไม่มีระบบที่ดีพอในการป้องกันด้านชีวภาพ กายภาพหรือการปนเปื้อนทางเคมี หรือไม่ได้นำระบบที่ดีมาใช้อย่างสม่ำเสมอ
มาตรฐาน ISO 22000 เป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารระดับโลก หากมีการนำไปใช้อย่างครบถ้วน จะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับธุรกิจอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ ยังช่วยให้โฟกัสไปที่ความสามารถของบุคลากรและการปรับปรุงระบบความปลอดภัยของอาหารด้วย
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2095
Related posts
Tags: food safety, ISO22000, standard, Standardization
Recent Comments