“ปีศาจแห่งไฮล์บรอนน์” เป็นชื่อของฆาตกรต่อเนื่องที่มีการตั้งสมมติฐานจากการตรวจดีเอ็นเอว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่อเหยื่อหลายรายที่อยู่ในประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส และเยอรมันในช่วงปี 2536 – 2552 บางคนเรียกฆาตกรนี้ว่าเป็นผู้หญิงที่ไร้ใบหน้า แต่ในที่สุด ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานก็สรุปว่าปีศาจแห่งไฮล์บรอนน์ไม่ได้มีอยู่จริงเนื่องจากพบว่าหลักฐานที่โยงใยไปถึงฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นผู้หญิงนั้นเกิดจากการตรวจสอบมีการปนเปื้อนระหว่างการเก็บตัวอย่าง ทำให้สมมติฐานที่ตั้งไว้เกิดความผิดพลาด
ไอเอสโอเข้าใจถึงปัญหาด้านนิติวิทยาศาสตร์ (forensic science) ในลักษณะดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรฐาน ISO 18385: 2016 ขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้
ถ้ามีใครพบดีเอ็นเอของคุณอยู่บนอาวุธหรือเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมละก็ สิ่งนี้จะทำให้คุณมีความผิดหรือไม่ ลองดูในกรณีฆาตกรต่อเนื่อง “ปีศาจแห่งไฮล์บรอนน์” จะเห็นได้ว่าการมีอยู่ของดีเอ็นเอมนุษย์ที่แปลกปลอมนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์
แล้วทำไม ดีเอ็นเอจึงไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงในคดีดังกล่าวได้ ดร.ลินซี วิลสัน-ไวลด์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติของหน่วยที่ปรึกษาตำรวจแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กล่าวว่า การสืบสวนนั้นมีความซับซ้อนด้วยปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่เกิดอาชญากรรม การขาดรูปแบบของการกระทำของอาชญากรชาติพันธุ์ต่างๆ (เช่น สโลวัค เซิร์บ โรมาเนียน อัลบาเนียนและอิรัค) รวมถึงการปฏิเสธการก่ออาชญากรรมของผู้ต้องสงสัย
จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าว ประเด็นปัญหาก็คือความเสี่ยงเกี่ยวกับการปนเปื้อนของมนุษย์ การแนะนำให้มีการสุ่มตัวอย่างตรวจดีเอ็นเอที่แปลกปลอมในคดีอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นที่สถานที่เกิดเหตุหรือระหว่างการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการสืบสวน
แล้วทำอย่างไร จึงจะตรวจดีเอ็นเอที่แปลกปลอมได้อย่างแน่นอน วิธีง่ายๆ ก็คือ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ และกระบวนการของวัสดุที่ใช้ตรวจดีเอ็นเอ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางนิติวิทยาศาสตร์หรือระหว่างการทดสอบทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดการปนเปื้อนในดีเอ็นเอ วิลสัน-ไวลด์ อธิบายว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เทคนิคการวิเคราะห์ดีเอ็นเอทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่อ่อนไหวเพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากดีเอ็นเอที่ตกค้างอยู่ในสิ่งของระหว่างกระบวนการผลิต
จากทฤษฎีประการหนึ่ง ในคดีฆาตกรต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น การตรวจนั้นมาจากโรงงานเดียวกันซึ่งจ้างผู้หญิงจำนวนมากและหนึ่งในนั้นมีดีเอ็นเอที่ตรงกับการเก็บตัวอย่างจากสถานที่เกิดเหตุ และการเก็บตัวอย่างโดยใช้แท่งสำลีพันก้านมีกระบวนการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม (ใช้ฆ่าแบคทีเรีย เชื้อราและไวรัส) แต่ต่อมากลับถูกปนเปื้อนด้วยเศษชิ้นส่วนของผิวหนังมนุษย์ เหงื่อ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายอื่นๆ
แล้วในอนาคต เราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งของคำตอบ ปรากฏอยู่ในมาตรฐานใหม่ของไอเอสโอ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนในดีเอ็นเอซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2559
มาตรฐาน ISO 18385 เป็นข้อกำหนดเรื่องการลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนดีเอ็นเอมนุษย์ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการรวบรวบ การจัดเก็บและการวิเคราะห์วัสดุทางชีวภาพสำหรับวัตถุประสงค์ทางนิติวิทยาศาสตร์ (Minimizing the risk of human DNA contamination in products used to collect, store and analyse biological material for forensic purposes – Requirements)
มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสากลฉบับแรกของโลกสำหรับผู้ผลิตวัสดุที่ใช้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อนจากเหตุการณ์ต่างๆ มาตรฐานนี้ยังได้กำหนดเกณฑ์ผ่าน/ไม่ผ่าน เพื่อผู้ผลิตจะได้สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์กับข้อกำหนดทางอุตสาหกรรมนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีความมั่นใจ
วิลสัน-ไวลด์กล่าวว่า การนำมาตรฐาน ISO 18385 ไปใช้จะทำให้นักนิติวิทยาศาสตร์มีความมั่นใจ ว่าผลิตภัณฑี่ใช้มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมซึ่งสามารถลดปัญหาการปนเปื้อนได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงช่วยลดปัญหาการตรวจสอบดีเอ็นเอที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย ทำให้ตีความผลการตรวจสอบได้ง่ายขึ้นและมีความมั่นใจในผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจและศาล
เขากล่าวต่อไปว่าในคดีฆาตกรต่อเนื่อง “ปีศาจแห่งไฮล์บรอนน์” นั้น ตำรวจได้ใช้เวลาถึง 8 ปีและเสียงบประมาณไปถึง 2 ล้านเหรียญยูโรโดยใช้เวลามากกว่า 16,000 ชั่วโมงในการค้นหาว่าฆาตกรนั้นคือใคร โดยได้เชื่อมโยงไปถึงคดีอาชญากรรมทั่วทั้งประเทศเยอรมัน ออสเตรีย และฝรั่งเศส
ด้วยเหตุนี้ การนำมาตรฐาน ISO 18385 ไปใช้ จะช่วยสร้างความเชื่อถือในผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์กลับคืนมาและทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณและเวลามากจนเกินไปในการสืบหาผู้ก่ออาชญากรรม
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2094
2. http://content.time.com/time/world/article/0,8599,1888126,00.html
Related posts
Tags: case, DNA, investigation, ISO, ISO18385, murder, standard, Standardization
Recent Comments