ในเดือนสิงหาคม 2559 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2559 เกิดแผ่นดินไหวความ รุนแรงขนาด 6.0 แมกนิจูด ขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เกิด เหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 6.2 ขึ้นที่ภาคกลางของประเทศอิตาลี และในวันเดียวกันนี้เอง ก็เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 6.8 ที่ประเทศพม่าด้วย
เป็นเวลาที่ประจวบเหมาะกับการกำหนดมาตรฐานใหม่ของไอเอสโอคือ ISO 11031: 2016 เครน – หลักการสำหรับการออกแบบต้านทานแรงแผ่นดินไหว (Cranes – Principles for seismically resistant design)
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ไอเอสโอกำหนดมาตรฐาน ISO 11031 ขึ้นมาเนื่องจากได้รับการร้องขอจากประเทศญี่ปุ่นหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบเมื่อปี 2538 (ค.ศ.1995) โดยระบุความต้องการของมาตรฐานในการสร้างความมั่นใจว่าเครนจะมีความสามารถในการต้านทานแรงของแผ่นดินไหวได้
มาตรฐานดังกล่าวสามารถนำไปใช้คำนวณรองรับการเกิดแผ่นดินไหว และกำหนดหลักการออกแบบสำหรับเครนที่กำหนดให้ทำงานในภูมิภาคที่มีการเกิดแผ่นดินไหวและเครนนั้นก็จำเป็นต้องมีแรงต้านทานการเกิดแผ่นดินไหวด้วย โดยในการออกแบบนั้น จะสามารถใช้สภาพที่จำกัดของการออกแบบเพื่อจัดเตรียมสำหรับรูปแบบสองรูปแบบ คือ สภาพการจำกัดความสามารถในการให้บริการ (Serviceability Limit State: SLS) กับสภาพการจำกัดการใช้งานสูงสุด (Ultimate Limit State: ULS)
สภาพการจำกัดความสามารถในการให้บริการ (SLS) ทำให้มั่นใจได้ว่าเครนสามารถทนทานต่อผลกระทบของความเคลื่อนไหวของพื้นดินที่เกิดแผ่นดินไหวได้ปานกลางตลอดระยะเวลาที่มีงานบริการและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่ใช้งาน ส่วน สภาพการจำกัดการใช้งานสูงสุด (ULS) จำเป็นที่โครงสร้างของเครนจะต้องไม่ยุบตัวลงระหว่างที่มีความเคลื่อนไหวของพื้นดินที่เกิดแผ่นดินไหว และระหว่างที่มีการขนสิ่งของอยูบนเครน ซึ่งต้องไม่ตกลงมาทำอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานหรือคนที่อยู่ในบริเวณนั้น
การประเมินพวกนี้ควรพิจารณาถึงสภาพของการเกิดคลื่นแผ่นดินไหวในภูมิภาครวมทั้งสภาพพื้นผิวของดินในบริเวณที่ใช้เครน ซึ่งจุดนี้มีความสำคัญในการพิจารณาว่าเครนจะมีการใช้งานอย่างไรและมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหายของคลื่นแผ่นดินไหว
ISO 11031 ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนภาษาที่มีการใช้งานร่วมกันและทำให้เข้าใจตรงกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และเจ้าของงาน ในการสนับสนุนการค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้
สำหรับเลขานุการของคณะอนุกรรมการวิชาการที่พัฒนามาตรฐาน ISO 11031 คือ สถาบันมาตรฐานแห่งประเทศเยอรมัน (Deutsches Institut für Normun: DIN หรือ German Institute of Standard)
ท่านที่สนใจศึกษามาตรฐานดังกล่าวสามารถหาอ่านได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2108 2. http://www.thairath.co.th/content/700233
3. https://www.youtube.com/watch?v=6ckIzUMOXk4
Related posts
Tags: cranes, earthquake, ISO, ISO11031, safety, standard, Standardization
Recent Comments