ปัจจุบันเป็นยุคที่ The Internet of Things (IoT) มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกของเรา และในขณะที่เรากำลังเริ่มมองเห็นผลกระทบของมันอย่างไม่น่าเชื่อ และเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเดินทางที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ต่อไปนี้เป็นมุมมองของสถานะปัจจุบันในการสร้างมาตรฐาน IoT ซึ่งผู้คนก็กำลังจับตามองอยู่ด้วย
อีกไม่นาน อุปกรณ์หรือวัตถุเกือบทุกประเภทของเราก็จะเชื่อมโยงเข้ากับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เทคโนโลยีที่สวมใส่หรือวัตถุที่ใช้เป็นประจำทุกวัน ซึ่ง IoT จะเชื่อมต่อกับเราในทุกทางอย่างที่เราอาจจะยังนึกไม่ถึง เช่น อุปกรณ์เทอร์โมสตัท ระบบเตือนภัย อุปกรณ์ตรวจจับควัน และตู้เย็นอาจจะเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายกับเราไปแล้ว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงยังเริ่มต้นแบบหยั่งลึกไปถึงเมืองของเราด้วย เป็นต้นว่าการบริหารจัดการที่ดีขึ้นในด้านพลังงาน น้ำ การขนส่ง ความปลอดภัย ซึ่งทำให้ผู้คนเข้าใกล้กันมากขึ้นในด้านสภาพแวดล้อมและทำให้ผู้คนมีความสุขในเมืองมากขึ้น หมายความว่าจะมีการเชื่อมต่อ ผสมผสาน ให้เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะและมีความยั่งยืน และยังทำให้เรามองเห็นกิจกรรมและนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นอีกมากมายซึ่งระบบทางกายภาพจะช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้นในวงกว้างด้วย
ดังนั้น เราจึงน่าจะพอจินตนาการได้ว่า 10 ปีนับจากนี้ไป ชีวิตจะมีความแตกต่างไปจากปัจจุบันมากมาย ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การ์ทเนอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ได้คาดการณ์ว่า จะมีสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อใช้งานทั่วโลก จำนวนถึง 6.4 พันล้านชิ้น ซึ่งสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 30% และคาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 3 เท่าจนถึงเกือบ 21 พันล้านชิ้นภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) ดังนั้น ผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้บริโภคและโมเดลธุรกิจจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อเสริมการใช้งานที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนอุปกรณ์ด้านระบบต่างๆ จะลดลง
ผลกระทบดังกล่าวจะมีไปทั่วโลก และมีมากยิ่งขึ้นไปกว่าสถานการณ์ประจำวันและการสื่อสาร อุปกรณ์เครือข่ายจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้สามารถทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นและมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น จากเครื่องมือหรืออุปกรณ์อัจฉริยะไปจนถึงโรงงานอัจฉริยะจะทำให้เรามีข้อมูลที่ดีขึ้น มีการควบคุมและหยั่งรู้ในทุกเรื่องที่เราต้องทำได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบจะสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องมีคนมารบกวนจนกว่าจะจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษา เป็นต้น
ขอต้อนรับเข้าสู่ยุค “อุตสาหกรรม 4.0”
อุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมทั่วโลกอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลักที่เริ่มต้นเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือเป็นการผลิตแบบอัจฉริยะ ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ IoT ทำให้โรงงานชาญฉลาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีความยั่งยืนโดยใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
IoT เชื่อมต่อกับโรงงานตลอดทั้งระบบขณะทำการผลิต ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การปรับปรุงการผลิตและผลผลิตทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงและทำให้มีรายได้ที่เติบโตขึ้นนับพันล้านในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ IoT ยังเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้และยังมีอิทธิพลต่อผู้ผลิตยานพาหนะในเรื่องวิธีคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตด้วย
อิกอร์ ดีเมย์ ประธานของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 22 ยานพาหนะบนท้องถนน อธิบายว่า IoT ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบนำทางที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนขับกับยานพาหนะไปอย่างสิ้นเชิง เราจึงอยู่ในช่วงที่สองของอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนกระจกเงา เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์นำทาง เป็นต้น
ด้วยอิทธิพลเหล่านี้เอง จึงทำให้การเชื่อมต่อออนไลน์ระหว่างรถยนต์กับผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใน ยานพาหนะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลำดับถัดไป จะช่วยให้เกิดระบบช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับคนขับแบบก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน IoT จึงมีความท้าทายในแง่ที่ว่าจะมีระดับของความละเอียดซับซ้อนรออยู่ข้างหน้าอย่างมหาศาล
ความท้าทายอันใหญ่หลวงของ IoT ก็คือเกิดข้อปัญหาที่ต้องอภิปรายกันในเรื่องการมาตรฐาน โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับปัญหาของการขาดมาตรฐานที่คงเส้นคงวา เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หากมีการแข่งขันกันด้านมาตรฐาน จะไม่มีใครได้รับชัยชนะ เพราะหากปราศจากวิธีการสื่อสารร่วมกันของอุปกรณ์ทุกยี่ห้อแล้ว มันจะทำได้เพียงสื่อสารกับอุปกรณ์ยี่ห้อเดียวและเป็นการจำกัดความช่วยเหลือในการเชื่อมต่อกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ
ดังนั้น ในความเป็นจริง อุปกรณ์ที่แตกต่างกันของทุกยี่ห้อจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานเดียวกันสำหรับการเชื่อมต่อกันและ การปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ ISO/IEC JTC 1 (ร่วมกับ IEC และ ITU) กำลังดำเนินการร่วมกันในขณะนี้ นอกจากนี้ ไอเอสโอยังแต่งตั้ง Strategic Advisory Group (SAG) เพื่อสนับสนุน “อุตสาหกรรม 4.0” ด้วย
ในอนาคต เราจึงมั่นใจได้ว่ามาตรฐานด้าน IoT ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งเสริมการสื่อสารและการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรได้เป็นอย่างดี และท้ายที่สุดแล้ว วิถีชีวิตก็จะปลี่ยนไปเพราะ IoT นั่นเอง
ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2112
Related posts
Tags: Internet of thing, IoT, ISO, stadard, Standardization
Recent Comments