Internet of Things: IoT เป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของภาคอุตสาหกรรมและได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ และสำหรับด้านการขนส่ง IoT ส่งผลต่อผู้ผลิตยานพาหนะที่จะทำการผลิตรถยนต์ในอนาคตด้วย ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) การ์ทเนอร์ บริษัทที่ปรึกษาได้คาดการณ์ว่าจะมีรถยนต์เกือบ 250 ล้านคันที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส ก็ทำนายว่า ตลาดรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อกับ IoT จะมีมูลค่าสูงถึง 149 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น สิ่งที่วงการมาตรฐานให้ความสำคัญมากเพื่อให้ IoT เป็นไปได้ก็คือการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ IoT
สำหรับคณะทำงานของไอเอสโอ ISO/TC 204 ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent transport systems) กำลังอยู่ในระหว่าง การพัฒนาซึ่ง Knut Evensen หัวหน้านักเทคโนโลยี ของ Q-Free กล่าวว่าความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบันนี้ก็คือผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนต่างเพิ่มความตระหนักถึงโอกาสและความท้าทายของ IoT และปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลในด้านนี้ ผู้ปฏิบัติงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผู้มีอำนาจหน้าที่ของเมืองทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent transport systems: ITS) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายสาขาที่มีการเติบโตมากสำหรับ IoT
ส่วน Dr.Young-Jun Moon สมาชิกนักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าผู้อำนวยการแห่ง National Transport Technology R&D ของศูนย์สถาบันการขนส่งของประเทศเกาหลี กล่าวว่า IoT อาจเข้ามาแทนที่ส่วนหลักๆ ของ ITS เช่น การรวบรวมและการติดตามข้อมูล ด้วยระบบเซนเซอร์ที่เชื่อถือได้สูงซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (device-to-device: D2D) ในแต่ละสถานีของ ITS เท่านั้น แต่ยังรวมถึงแหล่งข้อมูล Big Data ในการบริการของ ITS ด้วย
Knut Evensen กล่าวว่า สำหรับความท้าทายในการพัฒนา IoT สำหรับระบบการขนส่งอัจฉริยะ ก็คือ บางอย่างต้องทำในนามขององค์กร หรือหน่วยงาน เช่น ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ที่ดูแลการทางซึ่งต้องควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งหมด และยังมีองค์กรความร่วมมือในหลายระดับในรายละเอียดอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของการทำอินเตอร์เฟสที่เป็นผลมาจาก การต้องเข้าไปในระบบเพื่อล็อกอินในส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ รวมทั้งประเด็นด้านความเป็นเจ้าของข้อมูลและคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าถึงข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่า
Knut Evensen เชื่อว่าความท้าทายในอนาคตที่เปิดกว้างของ IoT อาจนำไปสู่การผลักดันให้เกิดธุรกิจที่มีความชัดเจนและเข้มแข็งซึ่งจะจัดการกับตลาดและอุปกรณ์จำพวก ITS ได้ดี และน่าจะเป็นยุคที่มาตรฐานและความกดดันด้านกฎระเบียบมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าของตลาดที่เปิดกว้างขึ้น เรื่องเหล่านี้ คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอมองเห็นความท้าทายต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือ ระยะสั้น กลุ่มงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันกำลังศึกษาว่าในเรื่องดังกล่าวจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่วนระยะยาว ยังมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มงานและคณะทำงานวิชาการด้วย
มาตรฐานบางอย่างที่จำเป็นมากรวมทั้งการสร้างพอร์ทข้อมูลเปิดในยานพาหนะและอุปกรณ์บนท้องถนน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัดในการเชื่อมต่อและช่วยให้มีการเข้าถึงข้อมูลท้องถิ่นตามแนวคิดของ IoT/Big Data ได้ง่ายในอนาคตอันใกล้ ซึ่งISO/TC 204 ได้เริ่มดำเนินการด้านการมาตรฐานในเรื่องข้อมูลพอร์ทแล้ว แต่ยังขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจหน้าที่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการกำหนดข้อมูลพอร์ทเหล่านี้ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องบังคับหรือไม่
Knut Evensen ยังกล่าวด้วยว่า IoT/Big Data เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของอนาคตด้านระบบการขนส่งอัจฉริยะ ส่วนอีกสองเสาหลักก็คือ ยานพาหนะที่มีการเชื่อมต่ออัตโนมัติ (Connected Automated Vehicles: CAVs /self-driving cars) และเมืองอัจฉริยะ ทั้งสามอย่างนี้จำเป็นต้องมีอยู่ร่วมกันในอนาคต
สุดท้ายนี้ Dr.Young-Jun Moon ได้กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การมาตรฐานและเทคโนโลยี ITS ได้เน้นตัวชี้วัดประสิทธิภาพใน 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัย และความสามารถในการเคลื่อนไหว แต่ปัจจุบัน มีอุปกรณ์จำพวกที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือเชื่อมต่อกันเพื่อการสื่อสาร จึงมีตัวชี้วัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น (เช่น ความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน) โดยได้นำมาพิจารณาในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทาง และ/หรือ รูปแบบการเดินทางภายในแนวคิด shared economy เป็นต้น
ในการทำให้ IoT และ Big Data สามารถก้าวไปในโลกอนาคตของการเชื่อมต่อระบบขนส่ง ตัวชี้วัดทั้งสามตัวดังกล่าวจำเป็นต้องมีการนำมาพิจารณา เพื่อให้มีความปลอดภัย ส่งเสริมระบบอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ที่มา: http://www.iso.org/iso/news.htm?refid=Ref2114
Related posts
Tags: Internet of thing, IoT, ISO, standard, Standardization
Recent Comments