เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเร่งให้สัตยาบันตามข้อตกลงปารีสในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อช่วยนำไปสู่โลกที่มีสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปได้เห็นชอบในการให้สัตยาบันดังกล่าวผ่านกระบวนการที่จะทำให้แต่ละประเทศส่งผ่านการให้สัตยาบันไปยังองค์การสหประชาชาติโดยตรง ขั้นตอนต่อไปก็คือจะต้องผ่านกระบวนการอนุมัติโดยรัฐสภายุโรป
ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน 2559 ประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในข้อตกลงปารีสแล้ว ส่วนประเทศอินเดีย ไซเอ็ด อัคบารุดดีน เอกอัคราชทูตอินเดียประจำองค์การสหประชาชาติได้ให้ส่งมอบสารการให้สัตยาบันที่ลงนามแล้วโดยปรานาบ มัคเฮอร์จี ประธานาธิบดีอินเดีย ให้แก่นายซานติอาโก วิลลัลแพนโด หัวหน้าส่วนสนธิสัญญาแห่งองค์การสหประชาชาติ ระหว่างพิธีการ ณ กรุงนิวยอร์ก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จึงเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมแม้ว่าองค์การสหประชาชาติจำเป็นจะต้องใช้ความพยายามในการผลักดันเพิ่มขึ้นอีกบ้าง โดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังได้เน้นในเรื่องของการกระจายข่าวสารให้มีความตระหนักถึงสังคมคาร์บอนต่ำ การสร้างโอกาสที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องรักษาการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้มีค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส
ในงานดังกล่าว เลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังเน้นในเรื่องความท้าทายของการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมทั้งบทบาทในการเจรจาและการสนับสนุนกองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ซึ่งจะมีการจัดประชุมระหว่างวันที่ 12 – 14 ตุลาคม 2559 ที่เมืองซองโด ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยเน้นว่าครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณสหภาพยุโรปและรัฐสภาสหภาพยุโรปสำหรับการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติรวมทั้งกล่าวแสดงความหวังว่าสหภาพยุโรปจะยังคงให้การสนับสนุนองค์การสหประชาชาติต่อไปในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างสันติภาพ
การอนุมัติของรัฐสภายุโรปดังกล่าว มีการนำเสนอข่าวต่อสื่อในเมืองสตราสบูร์ก รายละเอียดตามเว็บไซต์ https://www.un.org/sg/en/content/sg/press-encounter/2016-10-04/secretary-general%E2%80%99s-joint-press-conference-following-european ซึ่งทิ้งท้ายไว้ว่าความร่วมมือดังกล่าวจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกันทุกประเทศอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนด้วยสันติวิธี
ที่มา:
1. http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=55199#.V_PPx_krKUk
2. http://www.ryt9.com/s/iq29/2522197
Recent Comments