หนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญมากและเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือ ความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหาร และเมื่อกล่าวถึงกลุ่มคนที่มีความยากจนมากที่สุดของโลกแล้ว ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวนา ชาวประมง และผู้ที่ทำปศุสัตว์ ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในการต่อสู้กับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นและความเสียหายหรือหายนะที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ประชากรของโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะสูงถึง 9.6 พันล้านคนภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ดังนั้น ในการที่จะตอบสนองความต้องการของประชากรที่มีจำนวนมหาศาลดังกล่าว ระบบเกษตรกรรมและอาหารจะต้องปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สร้างผลผลิตได้มากขึ้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ถึงความมั่นคงปลอดภัยของระบบนิเวศ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชนบทและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารด้วยวิถีที่ยั่งยืนหมายถึงการรับเอาวิธีปฏิบัติที่ทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้นในพื้นที่เดิมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังหมายถึงการลดการสูญเสียของอาหารก่อนที่จะเกิดผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้ายหรือขั้นตอนขายปลีกผ่านโครงการต่างๆ ที่ทำให้มีการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ การทำบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และกลไกการตลาดที่ดีขึ้น รวมทั้งกรอบการดำเนินงานตามกฎหมายและของหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น วันอาหารโลก ปี 2559 (World Food Day 2016) จึงได้มีการส่งสารไปยังทั่วโลกว่า “ภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป อาหารและเกษตรกรรมจึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วย” (Climate is changing. Food and agriculture must too.)
สารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องทำอะไรบางอย่างหรือสร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ COP22 ระหว่างวันที่ 7 – 18 พฤศจิกายน 2559 ที่เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อกโค
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) กำลังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับอาหารและเกษตรกรรมด้วยการวางแผนด้านสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสมและลงทุนให้มากขึ้นในด้านการพัฒนาชนบท โดย FAO มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงเกือบหนึ่งในสามของการทำเกษตรกรรม และ 78% ของการปล่อยก๊าซมีเธน มาจากการทำเกษตรกรรม ซึ่ง FAO กำลังดำเนินการสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้ปรับปรุงการจัดการปศุสัตว์อยู่และลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่
2.ผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ จากแนวโน้มของน้ำที่มีปริมาณลดลงและคุณภาพดินที่เสื่อมโทรมลง ทำให้ต้องมีการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการป่าไม้และดินที่ดี สามารถนำไปสู่การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติและส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3. FAO ประมาณการว่าผลผลิตทางการเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม FAO และประเทศสมาชิกกำลังดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีการที่เหมาะสมเช่น การทำเกษตรกรรมแบบอัจฉริยะ การใช้นวัตกรรมทางการเกษตร เป็นต้น
4. มากกว่าหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตทั่วโลกเกิดการสูญเสีย โดยประมาณการว่ามีถึง 1.3 พันล้านตันต่อปี มีการปล่อยก๊าซมีเธนจากของเสียที่เป็นอาหารมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
5. ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) การจับปลาที่มีสปีชีส์หลักๆ จะมีแนวโน้มลดลงมากถึง 40% ในเขตร้อนซึ่งเป็นถิ่นที่มีความมั่นคงด้านโภชนาการอาหารซึ่งขึ้นอยู่กับภาคส่วนการประมงเป็นหลัก ดังนั้น FAO จึงเตรียมวิธีปฏิบัติเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้านการประมง เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในการอนุรักษ์และจัดการกับมหาสมุทร แม่น้ำและทะเลสาบต่างๆ ของโลก
6. การตัดไม้ทำลายป่าและการลดลงของป่าไม้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 10-11% ทั่วโลก FAO ยังได้จัดเตรียมเครื่องมือที่จะช่วยจัดการด้านป่าไม้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์
http://www.fao.org/sustainable-forest-management/toolbox/en/
7. โลกของเรามีเป้าหมายในการต่อต้านความหิวโหยและกำจัดให้หมดไปภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ต้องเน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์กับการทำให้ประชากรโลกมีการกินดีอยู่ดี โดย FAO กำลังพยายามช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาดังกล่าวสามารถปรับปรุงระบบอาหารให้ดีขึ้น เช่น การเชื่อมโยงผู้ผลิตอย่างชาวนา ชาวประมง หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องให้เข้ากับธุรกิจด้านเกษตรกรรมและซัพพลายเชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงตลาดในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เป็นต้น
FAO เชื่อมั่นว่าโลกของเราจะมีความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารได้ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาหรือเกษตรกรผู้ถือครองที่ดินทั่วโลกให้ สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำให้ประชากรโลกพ้นจากความหิวโหย พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ทั้งหมดนี้หมายความว่า FAO จำเป็นต้องทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกและผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจซึ่งเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้ด้วยการจัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็น เช่น การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนานโยบายและสมรรถะในระดับบุคคลและระดับสถาบัน เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุถึงเป้าหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารได้ในที่สุด
ที่มา: http://www.fao.org/world-food-day/2016/theme/en/
Related posts
Tags: Environment, Environmental, Sustainability, Sustainability Management, world food day
ความเห็นล่าสุด