วันอาหารโลก ปี 2559 (World Food Day 2016) ได้มีการส่งสารไปยังทั่วโลกว่า “ภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป อาหารและเกษตรกรรมจึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วย” (Climate is changing. Food and agriculture must too.)
จากการประมาณการที่ว่าการผลิตทางเกษตรกรรมจะเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ในการที่จะรองรับผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการด้านอาหารและผลกระทบของสภาวะโลกร้อนนั้นโลกของเราจะเลี้ยงดูประชากรทั่วโลกในวิถีทางที่ยั่งยืนได้อย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาความท้าทายของโลกดังกล่าว ในขณะที่มาตรฐานของไอเอสโอได้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ขณะนี้ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมด้วยมาตรฐานเฉพาะด้านในเรื่องของความยั่งยืนในภาคส่วนของเกษตร-อาหาร ปัจจุบัน ไอเอสโอกำลังพัฒนาเอกสาร 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
เรื่องแรก ไอเอสโอได้เริ่มงานมาตรฐานเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคมในสาขาเกษตร-อาหารเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับวิธีการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในสาขาเกษตร-อาหาร วัตถุประสงค์หลักของเอกสารนี้คือเพื่อกำหนดความหมายและประเด็นด้านความรับผิดชอบทางสังคมที่นำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารและจัดทำรายการข้อแนะนำเพื่อช่วยให้บริษัทที่สนใจในประเด็นนี้ได้นำไปใช้ เนื่องจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เท่าใดนัก โดยเฉพาะ SMEs
ดังนั้น เพื่อทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเกษตร-อาหารที่กำลังเปลี่ยนไป เอกสารทางวิชาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงจะต้องมีสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- จัดเตรียมแนวทางวิธีการที่ธุรกิจและองค์กรในภาคส่วนเกษตร-อาหาร สามารถปฏิบัติได้ในแนวทางที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบทางสังคม
- วางตำแหน่งของเกษตร-อาหารไว้เป็นภาคส่วนของนวัตกรรมที่ให้ความสนใจในด้านสังคม
- ช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดสร้างความก้าวหน้าด้านความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กรตามแนวทางของความสมัครใจและให้ข้อมูลความรู้
- สร้างความหมายร่วมและรากฐานร่วมกันในภาคส่วนอาหารซึ่งจะประสานแนวทางที่แตกต่างกันในระดับระหว่างประเทศ ปรับปรุงสมรรถนะและความกระชับในการค้าอาหาร
ยกตัวอย่างของชุดมาตรฐานโกโก้ซึ่งไอเอสโอกำลังพัฒนาอยู่นั้น มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนชาวไร่โกโก้ให้มีการผลิตอย่างยั่งยืน นั่นคือ มาตรฐาน ISO 34101 เมล็ดโกโก้ที่สอบกลับได้และมีความยั่งยืน (Sustainable and traceable cocoa beans) จะระบุข้อกำหนดของระบบการจัดการฟาร์มโกโก้ ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาฟาร์มที่มีพลวัตโดยสามารถใช้แนวทางการผลิตเมล็ดโกโก้ที่มีความยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
มาตรฐานชุดนี้ได้รับการออกแบบเพื่อใช้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของโกโก้ นับตั้งแต่ชาวไร่โกโก้ไปจนถึงผู้ซื้อและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายในการกระจายวิธีปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร การปกป้องสภาพแวดล้อมและการปรับปรุงสภาพทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่โกโก้
มาตรฐานดังกล่าวยังได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กร บริษัทและรัฐบาลนำเอาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหารและเกษตรกรรมเข้าไปอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านภูมิอากาศด้วย และทำให้มีการใช้งานที่เป็นประโยชน์อย่างชาญฉลาดมากขึ้นในด้านทรัพยากรธรรมชาติและการนำวิธีปฏิบัติที่ดีไปใช้ตลอดทั้งภาคส่วนของอาหาร
ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2129
Related posts
Tags: Climate Change, ISO, standard, Standardization, world food day
ความเห็นล่าสุด