กูเกิ้ลเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 โดยใช้เป็นกรอบการทำงานและยังคงลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กูเกิ้ลยังใช้เครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น machine learning รวมทั้งการซื้อพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานด้วย
ลอร่า ฟรานเซสชินี ผู้จัดการโครงการศูนย์ข้อมูลความยั่งยืนของกูเกิ้ล กล่าวว่าศูนย์ข้อมูลของกูเกิ้ลจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อให้บริการ เมื่อลูกค้าทำการค้นหาข้อมูล ใช้ Gmail หรือ YouTube เซิร์ฟเวอร์ของศูนย์ข้อมูลก็จะทำงานทันที ตลอดทั้งวันและทั่วโลก ดังนั้น กูเกิ้ลจึงต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับบริการของกูเกิ้ล ซึ่งกูเกิ้ลได้ทำสำเร็จแล้วและหมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าใช้บริการของกูเกิ้ล แสดงว่าลูกค้ากำลังใช้พลังงานที่ลดลงด้วย
เป็นเวลากว่า 10 ปีที่กูเกิ้ลได้ออกแบบและสร้างศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานลดลงกว่าเดิม 50 % และยังคงมองหาวิธีการที่จะลดการใช้พลังงานต่อไปด้วย กูเกิ้ลได้สร้างเซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นของตัวเองและมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานโดยมีการใช้พลังงานสะอาด 100% โดยได้มีการลงนามสัญญาซื้อพลังงานหมุนเวียนเกือบ 2.5 GW นับจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กูเกิ้ลกลายเป็นผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก
เมื่อปี 2556 (ค.ศ.2013) กูเกิ้ลเป็นบริษัทแรกในอเมริกาเหนือที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 แบบองค์กรหลายสาขา (Multi-Site) และเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่เพียงบริษัทเดียวที่ได้รับรองตามมาตรฐานดังกล่าวและปฏิบัติงานในศูนย์ข้อมูล กูเกิ้ลได้รับการรับรองศูนย์ข้อมูล 12 ศูนย์ทั่วโลก รวมทั้ง 7 สาขาในสหรัฐอเมริกา 3 สาขาในยุโรป และ 2 สาขาในเอเชีย
จากการตรวจประเมินตามมาตรฐาน ISO 50001 การปฏิบัติงานของกูเกิ้ลมีความสอดคล้องตามข้อกำหนด และถ้าถามว่ากูเกิ้ลทำได้อย่างไร ทีมงานของกูเกิ้ลกล่าวว่าในด้านพลังงาน มีความพยายามลดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้งานศูนย์ข้อมูลและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นของตัวเองเพื่อใช้สิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กูเกิ้ลได้ติดตั้งการควบคุมแสงและอุณหภูมิแบบอัจฉริยะ มีกลยุทธ์การควบคุมและการใช้ความเย็นแบบก้าวหน้า รวมทั้งการออกแบบพลังงานใหม่ให้มีการกระจายออกไปเพื่อลดการสูญเสียพลังงานที่ไม่จำเป็น มีการสร้างเซิร์ฟเวอร์ที่ออกแบบมาใช้เองสำหรับกูเกิ้ลโดยเฉพาะเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีการใช้งานอย่างคุ้มค่า จึงทำให้กูเกิ้ลสามารถทำงานได้มากขึ้นด้วยพลังงานที่ลดลง
กูเกิ้ลกล่าวว่าบริษัทสามารถปรับปรุงสิ่งที่วัดได้ดังนั้น จึงคำนวณข้อมูลสมรรถนะด้านประสิทธิภาพได้อย่างรัดกุมในแต่ละแห่ง อันที่จริงแล้ว กูเกิ้ลเป็นผู้ปฏิบัติงานศูนย์ข้อมูลแห่งแรกที่มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลประสิทธิภาพด้านพลังงานให้กับศูนย์ข้อมูลของกูเกิ้ลทุกศูนย์ตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ.2008) เป็นต้นมาและมีการจัดพิมพ์ผลงานดังกล่าวทุกไตรมาสด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา กูเกิ้ลได้ส่งมอบพลังงานจำนวนมากกว่า 5 เท่าของการใช้พลังงานด้วยไฟฟ้าในแบบเดิม ซึ่งหมายความว่า แม้ว่าเราจะส่งอีเมล์มากขึ้น ดูวิดีโอจาก YouTube มากขึ้น และมีการเซฟภาพดิจิตอลมากขึ้น แต่เรายังคงใช้พลังงานเท่าเดิมนั่นเอง
สำหรับ machine learning นั้น ลักษณะธรรมชาติของศูนย์ข้อมูลที่มีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น จะเป็นการยากสำหรับมนุษย์ในการตรวจสอบว่าตัวแปรต่างๆ ในระบบสารสนเทศทำงานได้อย่างไร รวมทั้งสภาพอากาศภายนอก และสิ่งอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อสองปีที่แล้ว กูเกิ้ลได้เริ่มประยุกต์ใช้ machine learning เพื่อให้การปฏิบัติงานของศูนย์ข้อมูลได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้ร่วมกับ DeepMind ซึ่งเป็นหุ้นส่วนบริษัทด้านการบริการข้อมูลสารสนเทศปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากของการปฏิบัติงานประจำวันเข้าด้วยกันและมีการสร้างโมเดลให้จดจำรูปแบบและเรียนรู้ข้อมูลสารสนเทศในระบบปฏิบัติงานเพื่อทำนาย คาดการณ์และปรับปรุงสมรรถนะของศูนย์ข้อมูล
ระบบ machine learning สามารถบรรลุถึงการลดจำนวนการใช้พลังงานลง 40 % ในการทำความเย็น ซึ่งเท่ากับการลดพลังงานทั้งหมดลงต่อหัวคิดเป็น 15 % หลังจากนับการสูญเสียด้านไฟฟ้าและความไม่มีประสิทธิภาพของระบบอื่นที่ไม่ใช่การทำความเย็นแล้ว
โครงการที่กูเกิ้ลนำไปใช้งานได้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงถึงหนึ่งพันล้านดอลล่าร์สหรัฐและยังได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง อีกทั้งยังมีการเน้นวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและแบ่งปันข้อมูลร่วมกันผ่านเอกสารสมุดปกขาวซึ่งช่วยให้ศูนย์ข้อมูลอื่นๆ มีการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
กูเกิ้ลกำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อประสิทธิภาพด้านพลังงานผ่านศูนย์ข้อมูลและได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เนื่องจากคลาวด์ช่วยให้ธุรกิจนับล้านธุรกิจสามารถลดการใช้พลังงานลงด้วย เช่น ในการเปลี่ยนมาใช้แอพของกูเกิ้ล บริษัทต่างๆ ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์สำนักงานลง รวมทั้งลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 65 – 90 %
กูเกิ้ลยังคงใช้ ISO 50001 เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังด้านพลังงาน และยังได้เข้าร่วมในคณะกรรมการวิชาการของ ISO 50001 เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรฐานยังคงใช้งานได้อย่างมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กรด้วย
ที่มา: http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2139
Related posts
Tags: Alternative Energy, Energy, energy management, ISO50001, standard
Recent Comments