จากการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของวารสาร Nature Scientific ได้ค้นพบโมเดลการคาดการณ์ภาวะโลกร้อนของแนวปะการังบนโลก ทำให้ทราบว่าปะการังจะถูกทำลายโดยการฟอกขาวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงการคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดของโลก
จากการคาดการณ์ดังกล่าวสามารถทำนายได้ว่าเมื่อใดและที่ไหนที่จะเกิดการฟอกขาวของปะการังในทุกๆ ปี เช่น ปะการังในไต้หวันและรอบหมู่เกาะเติกส์และเคคอส จะเป็นแห่งแรกที่จะประสบปัญหานี้ ส่วนปะการังที่จะเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวทุกปีในทศวรรษต่อไป คือบริเวณนอกชายฝั่งบาห์เรน ชิลี และเฟรนช์โปลินีเซีย (ดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้)
หากโลกของเราไม่สามารถลดภาวะโลกร้อนได้ และแนวโน้มของการฟอกขาวปะการังยังคงเกิดขึ้นทุกๆ ปีต่อไปเช่นนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือการฟอกขาวปะการังอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นถึง 99% ของปะการังที่มีอยู่บนโลกนี้ภายในไม่เกินศตวรรษนี้
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยดังกล่าวเปรียบเสมือนลายแทงขุมทรัพย์ที่จะช่วยต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อนและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจะทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรัฐบาลทั่วโลกสามารถจัดลำดับความสำคัญในการปกป้องปะการังและยังมีเวลาพอที่จะปรับตัวให้เข้ากับน้ำทะเลที่มีความอุ่นขึ้นด้วย หมายความว่าเราจะมีเวลาในการเตรียมตัวก่อนที่จะสายเกินแก้
ข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนั้นดูจะปลอดภัยสำหรับผืนโลกแต่จะยังไม่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับแนวปะการัง และถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซจะมีมากเกินกว่าที่มีการตกลงกันไว้ กว่าสามในสี่ส่วนของแนวปะการังของโลกก็จะเกิดการฟอกขาวทุกปีภายในปี 2070 เช่นกัน
การฟื้นตัวจากการฟอกขาวของปะการังจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี การฟอกขาวที่เกิดขึ้นทุกปีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ในหน้าที่ของระบบนิเวศของปะการังอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การฟอกขาวประจำปีจะลดสมรรถนะของแนวปะการังในการผลิตสินค้าและบริการ อย่างเช่นด้านการประมง รวมทั้งการปกป้องชายฝั่งไปจนถึงชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัย
โลกของเราได้พิสูจน์มาแล้วว่าระหว่างปี 2014 – 2016 ปะการังถูกทำลายไปโดยใช้เวลาที่ยาวนานที่สุด ในปี 2016 การฟอกขาวมีถึง 90% ตามแนวชายฝั่งเกรทแบริเออร์รีฟและทำลายปะการังไปมากกว่า 20%
การวิจัยครั้งใหม่นี้ยังแสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ย ปะการังของโลกจะเริ่มมีปัญหาการฟอกขาวในปี 2043 ประมาณ 5% ของการฟอกขาวจะมีปัญหาประมาณหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่านั้น ในขณะที่ 11% จะประสบปัญหาการฟอกขาวประจำปีประมาณหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่า
หากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ แนวปะการังจะใช้เวลาอีก 11 ปีโดยเฉลี่ยในการปรับตัวให้กับทะเลที่อุ่นขึ้นก่อนที่จะถูกจู่โจมด้วยการฟอกขาวของปะการัง และหากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้จริง ก็จะสามารถซื้อเวลาเอาไว้ได้อย่างน้อย 25 ปีในการที่จะทำให้ไม่เกิดการฟอกขาวของปะการังประจำปีในหลายพื้นที่ของแนวปะการัง เช่น ออสเตรเลีย แปซิฟิคใต้ อินเดีย สามเหลี่ยมปะการังในมหาสมุทรแปซิฟิค แนวปะการังฟลอริดา เป็นต้น แต่ก็จะทำให้ปะการังที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเกิดการฟอกขาวประจำปีเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ปะการังยังถูกคุกคามจากการทำประมงที่มากเกินไปรวมทั้งการท่องเที่ยวซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่เปราะบางสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำอุ่นได้โดยง่าย เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น สาหร่ายที่ปกคลุมปะการังและทำให้ปะการังมีสีสดใสก็จะหายไปจนกลายเป็นสีขาวซึ่งเรียกกันว่าปะการังฟอกขาวนั่นเอง มันจึงอ่อนแอ หิวโหยและเป็นโรค
ปะการังได้ชื่อว่าเป็นเมืองใต้น้ำที่เป็นแหล่งให้อาหารและรายได้แก่ผู้คนนับล้านและช่วยปกป้องชายฝั่ง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับการประมง การท่องเที่ยว และการปกป้องชายฝั่งมากกว่า 375 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ได้กล่าวไว้ว่าเราจำเป็นต้องมีแนวทางการทำงานแนวใหม่ในเชิงรุกหากเรายังต้องการเห็นแนวปะการังอยู่รอดได้ในศตวรรษหน้า ดร.แกบบี้ อาห์มาเดีย ผู้แต่งและผู้ศึกษาร่วมซึ่งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ทางน้ำระบุว่า การอนุรักษ์ไม่ใช่การต่อต้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เราจำเป็นต้องสร้างความจริงในสภาพภูมิอากาศใหม่เพื่อนำทางให้เราสามารถรักษามหาสมุทรของโลกไว้ให้ได้
ที่มา:
1.http://www.unep.org/newscentre/Default.aspx?DocumentID=27092&ArticleID=36336&l=en
2.http://www.nature.com/articles/srep39666
Related posts
Tags: Climate Change, coral reefs, Environment, Future Management, Future watch
Recent Comments