อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 14 ล้านคนในปี 2552 เป็น 24.8 ล้านคนในปี 2557
ทั้งนี้ ตลาดหลักยังคงเป็น 10 ตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส
จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555 – 2559 โดยได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สอดคล้องกันอันสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ โครงสร้างพื้นฐ้านที่ดีด้านการคมนาคมทางอากาศและด้านการบริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น ในขณะที่ยังมีปัญหาอุปสรรคที่ต้องแก้ไข เช่น ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการของภาครัฐและการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ และปัญหาด้านกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 – 2564
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2558 – 2560 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “วางรากฐานการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน” ซึ่งพันธกิจประการหนึ่งก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการเชื่อมโยงระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น
ซึ่งในด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้บรรลุเป้าหมายของประเทศในการเพิ่มรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกในการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย กรมการท่องเที่ยวได้จัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Standard) และให้การรับรอง ได้แก่ มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ 17 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (น้ำพุร้อนธรรมชาติ) มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำและรับรองมาตรฐานอื่นๆ ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยด้วย เช่น มาตรฐานบริการอาหารเพื่อการท่องเที่ยว มาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยว มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวระดับสากล เป็นต้น และสำหรับการให้บริการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยได้ทำเป็นเครื่องหมายรับรองคือรูปช้างรวมกับลายประจำยาม สำหรับช้างถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยมีรูปช้างชูงวงที่สื่อถึงการต้อนรับด้วยความยินดีพร้อมร้อยยิ้มของคนไทย ส่วนรูปลายประจำยามเป็นลวดลายศิลปะไทยที่สื่อให้เห็นถึงความประณีตสวยงาม วัฒนธรรมอันดีและคุณค่าทางศิลปะ และสะท้อนถึงจิตใจที่อ่อนโยนของคนไทย
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (ทีเส็บ: Thailand Convention & Exhibition Bureau) ยังได้ดำเนินงานจัดทำ (รวมทั้งให้การรับรอง) มาตรฐานที่ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับประโยชน์อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ การจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานของประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standard) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดปริมาณและคุณภาพของสถานที่และบริการอันเป็นการยกระดับการพัฒนาสถานที่จัดงานสินค้าของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ รวมทั้งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2559 ทีเส็บได้เปิดเผยว่าประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องต้องกันในการนำมาตรฐานสถานที่จัดงานของประเทศไทยไปใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์แห่งอาเซียนพร้อมกัน และยังได้มีการวางแผนขยายการทำงานไปสู่การพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานแสดงสินค้าซึ่งประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับจากสมาคมส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าโลกว่าติดอันดับต้นของประเทศในภูมิภาคที่มีจำนวนพื้นที่การขายการแสดงสินค้าที่สูงและงานแสดงสินค้านานาชาติเลือกประเทศไทยเป็นฮับของการจัดงาน
มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยของไทยประสบความสำเร็จ โดยมีการวางรากฐานที่ดีในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114
2. http://www.tceb.or.th/th/nc/news-download/news/detail/article/760/
Related posts
Tags: Quality Management, Standardization, Tourism, Travel & Leisure
Recent Comments