ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดทำประกาศกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อดูแลด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อีกด้วย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรให้การคุ้มครองสัตว์ไม่ให้ถูกกระทำทารุณกรรรม รวมทั้งเจ้าของสัตว์ก็ควรจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร จะไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 20 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่มีชื่อว่า องค์กรสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health: OIE) ได้ออกระเบียบสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นมาเพื่อให้มีการจัดการโรงฆ่าสัตว์และบริการที่ดีที่เกี่ยวข้องกับสัตวบาลเพื่อให้มั่นใจในความสามารถในการดำเนินการและความสอดคล้องกับหลักการสวัสดิภาพสัตว์
ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้มั่นใจในสวัสดิภาพสัตว์แล้ว ยังมีความสำคัญในแง่ของความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน อันเป็นการป้องกันการบาดเจ็บของพนักงาน ตลอดจนมีผลต่อคุณภาพของเนื้อสัตว์รวมทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตซึ่งหากสวัสดิภาพสัตว์ไม่ดีจะส่งผลให้คุณภาพเนื้อสัตว์ไม่ดีเช่นกัน
ในอดีต เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ แต่ต่อมา กลายเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยให้ความสำคัญกับปศุสัตว์ต่อการค้าทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติโดยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์รวมทั้งสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ให้กับผู้บริโภคในยุโรป
เมื่อผู้บริโภคในยุโรปได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น และสหภาพยุโรปมีแนวทางปฏิบัติและการติดฉลากเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ (เช่น ระเบียบสหภาพยุโรปเรื่อง การแสดงข้อมูลอาหารสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันอาหาร, กฎระเบียบของสหภาพยุโรปเรื่องความปลอดภัยอาหาร ซึ่งรวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น)
อย่างไรก็ตาม OIE ได้ระบุว่าแนวทางเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเรื่องสวัสดิภาพสัตว์นั้นถึงแม้ว่าจะในอนาคตจะไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าของ WTO แต่การติดฉลากแบบสมัครใจอย่างโปร่งใส จะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้นในกฎระเบียบของ OIE และท้ายที่สุดแล้ว ความต้องการของผู้บริโภคและการผลิตเนื้อสัตว์ที่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างเปิดเผยนั่นเองจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในสวัสดิภาพสัตว์และมาตรฐานระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต
ที่มา:
1. http://www2.thaieurope.net/
2. http://certify.dld.go.th/th/images/oie/animal%20welfare%20beef/01.pdf
3. http://www.oie.int/doc/ged/D2707.PDF
Related posts
Tags: Animal welfare, Quality, standard, Standardization
Recent Comments