ปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบินที่แท้จริงได้ลดลงถึง 60% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการของการบินได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว เครื่องบินได้กลายเป็นการเดินทางที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเสียงที่เงียบขึ้นกว่าเดิม
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ความสอดคล้องที่เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานและเทคโนโลยีได้ช่วยให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยุ่งยากต่างๆ มาได้และทำให้มั่นใจในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของความปลอดภัยรวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของการบินและการขนส่งสินค้า
วารสารไอเอสโอโฟกัสได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบินจากคุณฟาง ลี่ เลขาธิการของ ICAO รวมทั้งความร่วมมือกับหุ้นส่วนคือ ไอเอสโอซึ่งนับว่ามีความสำคัญในการสร้างกรอบงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวไอเอสโอตั้งคำถามว่า ทุกๆ ปี ภาคการขนส่งทางอากาศได้ทำการขนส่งผู้โดยสารมากกว่า 3.5 พันล้านคนและทำการขนส่งสินค้ามากกว่า 51 ล้านตัน และเป็นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น ความจำเป็นสำหรับอนาคตของ ICAO มีขอบข่ายเพียงใดและมาตรฐานไอเอสโอมีบทบาทต่อความพยายามของ ICAO อย่างไรบ้าง
เลขาธิการของไอเอสโอกล่าวว่า อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศทั้งด้านผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก 15 ปีมามากกว่าครึ่งศตวรรษ สิ่งต่างๆ ได้เกิดขึ้นทั่วโลกท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ความถดถอยทางเศรษฐกิจ สงคราม เหตุการณ์ 9/11 ความไม่มั่นคงทางสังคม เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า โลกจะยังคงเผชิญหน้าสิ่งที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การมีเครือข่ายที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อนทั่วโลก ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งได้มาจากการที่มีเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นและการทำงานที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั่วโลกอย่างเข้มงวดที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของการบิน นับตั้งแต่การออกแบบ การผลิตและการปฏิบัติการ
คุณฟาง ลี่ เลขาธิการ ICAO กล่าวต่อไปว่ามีกฎระเบียบและมาตรฐานอื่นๆ เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและความปลอดภัยที่ ICAO กำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง และมาตรฐานที่สมาชิกของประเทศต่างๆ ได้ให้ความใส่ใจโดยกำหนดเป็นกระบวนการของตนเองขึ้นมา ในขณะเดียวกัน องค์กรมาตรฐานอุตสาหกรรมเฉพาะด้านอย่าง SAE International, Radio Technical Commission for Aeronautics (RTCA) และ European Organization for Civil Aviation Equipment (EUROCAE) ยังได้พัฒนาข้อกำหนดด้านเทคนิคการบินโดยเฉพาะขึ้นมาอีกด้วย ส่วนองค์กรที่ดำเนินการด้านมาตรฐานอย่างไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานก็ได้พัฒนามาตรฐานทั่วไปที่มีความสำคัญซึ่งพวกเราก็ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทั้งหมดที่ทำให้เรามีผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้
เพื่อเป็นการจัดให้มีระยะห่างระหว่างเครื่องบินในสถานการณ์ต่างๆกัน ในขณะเดียวกับที่ต้องรักษาประวัติในเรื่องของความปลอดภัย สำหรับอนาคต เราจึงหวังว่าเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อๆ ไปในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น แต่ในขณะที่มีการใช้สายการบินเพิ่มขึ้น ทว่าพื้นที่ในอากาศ (ท้องฟ้า) ยังมีขนาดเท่าเดิม และสนามบินก็ไม่สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่าเราต้องหาวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในเรื่องการจัดระยะห่างระหว่างเครื่องบินในสถานการณ์ต่างๆกัน และยังรักษาประวัติของความปลอดภัยไว้ได้
ข่าวดีก็คือว่าเรามีแผนงานที่เรียกว่า แผนพัฒนาระบบการเดินอากาศสากล (Global Air Navigation Plan) และภายในแผนการนี้ มีกรอบการพัฒนาในหลายระดับ หรือที่เรียกว่า Aviation System Block Upgrades: ASBUs ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าว สามารถค้นหาโรดแม็พของการพัฒนาที่จำเป็นในด้านเทคโนโลยี กระบวนการ การฝึกอบรม รวมถึงมาตรฐานที่จำเป็นด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ อากาศยานไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและเกี่ยวข้องกับเรื่องของการบิน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ICAO และไอเอสโอมีการดำเนินการอย่างไรนั้น โปรดติดตามอ่านต่อในครั้งต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: 1. http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref2156
2. http://www.iso.org/iso/iso_technical_committee?commid=5336224
Related posts
Tags: aviation, ICAO, safety, Standardization, Technology
Recent Comments