การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สมดุล จำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่โดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในปี 2550 เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาส่งเสริมความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และผลักดันยุทธศาสตร์สู่ภาคปฏิบัติ
ในปี 2554 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดดัชนีชี้วัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดดัชนีชี้วัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทยที่เหมาะสม และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขอรับการสนับสนุนโครงการ Eco Industrial Town จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปราจีนบุรี โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม (จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) โดยให้คำนึงถึงการจำกัดการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานในพื้นที่อย่างเข้มงวด สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ (จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี) ให้พิจารณาจัดทำแผนการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ได้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นโยบายที่ 9.5 เร่งรัดการ ควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ ขยะ และน้ำเสีย ที่เกิดจากการผลิตและบริโภค รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงขีด ความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 – 2559) ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้มีความยั่งยืนด้วยความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขและมีความยั่งยืน
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนรวมทั้งชุมชนได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งมีการใช้วัสดุและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในชุมชนซึ่งมีการเติบโตไปพร้อมกับโรงงานด้วย
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: 1. http://ecocenter.diw.go.th/th
Related posts
Tags: Eco Industrial Town, Eco Town, Environmental Management, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด