ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า “นวัตกรรม” เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการให้เกิดขึ้นได้ และในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักบริหารก็คือ “การจัดทำแผนการบริหารนวัตกรรม” เพื่อให้การจัดทำนวัตกรรมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งองค์กรทั่วไปสามารถริเริ่มดำเนินการภายในองค์กรได้ด้วยตนเอง
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการของสถาบันฯ ได้นำไปใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาการจัดทำแผนการบริหารนวัตกรรมและการนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย 14 หัวข้อ ดังต่อไปนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานการบริหารนวัตกรรม
ผู้ประกอบการควรแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบคณะกรรมการบริหารนวัตกรรม (Steering Committee) ซึ่งอาจประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจำนวน 1 คน ทำหน้าที่เป็น Innovation Champion ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของการดำเนินการด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องตามกลยุทธ์ที่องค์กรกำหนด และมอบหมายตัวแทนของผู้บริหารระดับสูงจำนวน 1 คน ทำหน้าที่เป็น Innovation leader ซึ่งจะถูกกำหนดให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานบริหารนวัตกรรมต่อไป นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรแต่งตั้งทีมผู้บริหารระดับสูงอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เป็นคณะกรรมการ ในการนี้ Innovation leader จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานด้านนวัตกรรมขององค์กร (Innovation Working Group) ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้บริหารระดับกลางของแต่ละหน่วยงานภายในองค์กร เพื่อแต่งตั้งให้เป็น Innovator และ Innovation team member ต่อไป
2. การกำหนดขอบข่ายและขอบเขตการจัดทำระบบการจัดการนวัตกรรมขององค์กร
หัวหน้าคณะทำงานด้านนวัตกรรมและทีมงาน จะดำเนินการกำหนดขอบข่ายและขอบเขตในการบริหารนวัตกรรม โดยต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการดำเนินการด้านนวัตกรรม ซึ่งอาจครอบคลุมตั้งแต่นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ นวัตกรรมด้านกระบวนการ หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโมเดลทางธุรกิจใหม่ตามความเหมาะสม เพื่อที่จะได้นำไปสู่การกำหนดรูปแบบทางธุรกิจและประเภทของผลิตภัณฑ์และบริการที่จะเกี่ยวข้องในการบริหารนวัตกรรมต่อไป นอกจากนี้ องค์กรจะต้องมีการระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จด้วย
3. การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของบริบท
หัวหน้าคณะทำงานด้านนวัตกรรมควรมีการมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบจำนวนหนึ่ง เพื่อดำเนินการสแกนข้อมูลทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอุตสาหกรรม คู่แข่ง พันธมิตทางธุรกิจและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเพื่อพิจารณาการถึงเหตุการณ์และแนวโน้มด้านต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทบทวนข้อมูลปัจจจัยภายใน ได้แก่ กระบวนการทำงาน ระบบการทำงาน โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการ ภาวะผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร ขีดความสามารถขององค์กร เพื่อพิจารณาว่าปัจจุบันนี้องค์กรอยู่ที่จุดไหน ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ได้ค้นหามาจะนำไปสู่การสังเคราะห์เพื่อกำหนดความท้าทายในอนาคต (Future Challenges) ต่อไปอย่างไร และความท้าทายต่างๆ นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งความท้าทายในอนาคตควรได้รับการเห็นชอบและอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนวัตกรรมก่อนนำไปดำเนินการในด้านอื่นต่อไป
4. การพิจารณาความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
หัวหน้าคณะทำงานด้านนวัตกรรมควรมีการมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบจำนวนหนึ่ง เพื่อค้นหาความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยกิจกรรมที่ควรได้รับการกำหนดได้แก่ การชี้บ่งว่าใครคือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมบ้าง ซึ่งอาจครอบคลุมกลุ่มลูกค้า ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น นักวิชาการ พันธมิตร หรือชุมชนสังคม ตามความเหมาะสม หลังจากนั้น ผู้ประกอบการควรมีการคัดเลือกหน่วยงานหรือบุคคลที่จะไปหารือ พูดคุย หรือเยี่ยมชม เพื่อดำเนินการสานเสวนาและรายงานผลความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียของกลุ่มที่ได้คัดเลือก มานำเสนอต่อคณะทำงานและคณะกรรมการบริการนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมต่อไป
สำหรับแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดทำแผนการบริหารนวัตกรรมอีก 14 หัวข้อจะมีอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามในตอนต่อไปครับ
Related posts
Tags: Innovation, Innovation Management, Strategic Management
ความเห็นล่าสุด