บทความเรื่อง เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมากซึ่งภาครัฐมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีการใช้วัสดุและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับบทความในตอนนี้จะกล่าวถึงความยั่งยืนที่เกิดขึ้นเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งหมายถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมีวัตถุประสงค์หลักคือ การจัดการเพื่อลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น และการเตรียมความพร้อมในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
สำหรับประเทศไทยได้มีการถอดบทเรียนด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้มีแนวทางในการพัฒนาอย่างรอบด้านและรัดกุม ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย การปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนโดยรอบ ได้นำไปสู่การออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ประเทศสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จจากการมีเป้าหมายในการพัฒนาอีโคทาวน์ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Kingdom Climate Change Bill) และได้แบ่งความรับผิดชอบในการลดการใช้ทรัพยากรและการระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามผู้รับผิดชอบในระดับบุคคลและระดับรัฐบาล และประเทศสวีเดน ประสบความสำเร็จจากการมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนของประเทศ (เช่น จัดเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น มีแผนยกเลิกใช้พลังงานฟอสซิลในภาคขนส่งทั้งหมดภายในปี 2030 และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาให้ดื่มได้ เป็นต้น) การปรับปรุงและประกาศใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิผล และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างเกื้อกูลกันหรือพึ่งพาอาศัยกันของโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Symbiosis) เป็นต้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กำหนดคุณลักษณะของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศซึ่งครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านกายภาพ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านการบริหารจัดการ และแต่ละมิติ ประกอบด้วย 20 ด้าน ซึ่งสามารถแบ่งระดับความก้าวหน้าของการพัฒนาเป็น 5 ระดับ ได้แก่ การปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย การรักษาระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการประกอบอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต และสังคมคาร์บอนต่ำ จึงทำให้ครอบคลุมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์
เมื่อปี 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำผลการศึกษาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาจัดทำเป็นโมเดลระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทยซึ่งมีพื้นฐานอยู่บน 5 มิติ 20 ด้านดังกล่าวข้างต้นโดยเริ่มจากระดับการมีส่วนร่วม ระดับการส่งเสริม ระดับประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ระดับการพึ่งพาอาศัย และระดับเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งจะเป็นการสะท้อนถึงความยั่งยืนของการเกื้อกูลพึ่งพากันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ ซึ่งทำให้เกิด “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” อันจะทำให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป
ที่มา:
1. http://ecocenter.diw.go.th/th
2. คู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ความเห็นล่าสุด