ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเมือง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวโลกต่างหวาดหวั่นกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ หรือปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือจากน้ำมือมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือการเตรียมพร้อมรับกับความไม่แน่นอนดังกล่าวซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานขององค์กรไม่มากก็น้อย หรือที่เรียกว่าความเสี่ยงนั่นเอง
นอกจากนี้ เราสามารถสังเกตเห็นได้ว่าองค์กรหรือแม้แต่บุคคลใดก็ตามที่สามารถปรับตัวให้กับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งคล้ายกับทฤษฎีวิวัฒนาการการคัดเลือกตามธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วินที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าพวกอื่น จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ และถ่ายทอดลักษณะที่เหมาะสมต่อไปได้นั่นเอง
เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ผู้บริหารองค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อจัดการกับความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและช่วยสร้างขีดความสามาถในการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดความยืดหยุ่น ได้แก่ มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301)
ISO 22301 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Business Continuity Management (BCM) เป็นมาตรฐานให้องค์กรมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ซึ่งชี้บ่งภัยคุกคามต่อองค์กร และผลกระทบของภัยคุกคามนั้นต่อการดำเนินธุรกิจ และเป็นกรอบการสร้างขีดความสามารถให้องค์กรมีความยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองและปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และกิจกรรมที่สร้างมูลค่าที่มีประสิทธิผล
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกขององค์กรซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานขององค์กรไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นก็ตาม การบริหารองค์กรในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะนอกจากจะช่วยป้องกันการหยุดชะงัก (Disruption) แล้ว ยังช่วยให้องค์กรมีระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยองค์กรจะต้องพิจารณาถึงความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจากภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้องค์กรสามารถเกิดการบริหารความยั่งยืน (Sustainable Development) ขององค์กรได้อย่างแท้จริง
มาตรฐานดังกล่าวสามารถใช้ได้กับทุกองค์กร ประเภท ทุกขนาด และองค์กรต่างๆ สามารถขอรับรองจากหน่วยงานตรวจประเมินภายนอก (Third Party Certification) ได้
ที่มา: 1. http://masci.or.th/service/
2. https://sites.google.com/site/elearningevolution/evolution/ct-2/ct-2-2
Recent Comments