คนที่อาศัยอยู่ใกล้ถนนที่พลุกพล่านเต็มไปด้วยรถราที่คับคั่งมักจะประสบปัญหากับเสียงรบกวนของการจราจรบนท้องถนน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าเสียงเหล่านั้นอาจส่งผลต่อสุขภาพและนำไปสู่การเสียชีวิตต่อวัยอันควรได้
มลพิษที่เกี่ยวข้องกับเสียงที่เกิดจากการจราจรที่คับคั่งนั้นส่งผลต่อสุขภาพของคนนับล้านคนเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการหรือแม้แต่ถึงแก่ชีวิตในประเทศทางตะวันตกอย่างภูมิภาคยุโรป ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้รายงานไว้ แต่ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในทวีปยุโรปเท่านั้น มันยังส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในบริเวณที่มีการใช้ยานพาหนะกันมากและมีการจราจรที่คับคั่ง
หนึ่งในประเด็นปัญหาดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุด คือเสียงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อล้อรถสัมผัสกับพื้นผิวของถนน ประเภทของปฏิสัมพันธ์ระหว่างยางล้อกับถนนที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อมีการขับขี่ที่ความเร็วมากกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับยานพาหนะที่มีความเบา จะมีความเร็วที่ช้าในระดับ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าซึ่งไม่มีเสียง จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในทุกระดับความเร็ว
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations Economic Commission for Europe) ได้นำเสนอประเด็นการจำกัดทางกฎหมายเพื่อควบคุมเสียงของยางล้อรถและมีการดำเนินการแล้วในประเทศอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม พื้นผิวของถนนก็เป็นตัวแปรที่สำคัญด้วยที่ส่งผลต่อการเกิดเสียงเช่นเดียวกับล้อและยานพาหนะ
ในบางประเทศ ได้เริ่มดัดแปลงพื้นผิวของถนนในบริเวณที่มีความเป็นไปได้สูงต่อการเกิดเสียง แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนาน การเจรจายังคงดำเนินต่อไปเพื่อจำกัดปริมาณเสียงบนพื้นผิวถนนที่จะเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยผู้ผลิตยางรถและยานพาหนะด้วย
แต่ในการที่จะนำข้อกำหนดเหล่านั้นไปปฏิบัติ เราจำเป็นต้องใช้มาตรฐานสากลเพื่อวัดและติดตามผลกระทบของพื้นผิวถนนต่อเสียงการจราจรอย่างเป็นรูปแบบและเชื่อถือได้ ซึ่งไอเอสโอได้ตีพิมพ์มาตรฐานฉบับแรกเมื่อปี 2540 (ค.ศ.1997) แต่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงความจำเป็นได้ทำไปสู่การพัฒนาวิธีการใหม่ที่อยู่ในมาตรฐาน ISO 11819-2, Acoustics – Measurement of the influence of road surfaces on traffic noise – Part 2: The close-proximity method.
อัลฟ์ แซนด์เบอร์ก หัวหน้าโครงการของมาตรฐานใหม่กล่าวว่า วิธีการใหม่มีความง่ายกว่าและสามารถทำในทางปฏิบัติได้มากกว่า วิธีการนี้นำไปสู่การพัฒนาข้อกำหนดทางวิชาการ ISO/TS 11819-3 สำหรับล้อที่ใช้ในการอ้างอิง แซนด์เบอร์กอธิบายว่าได้มีการพัฒนาเป็นมาตรฐานใหม่ ISO 11819-2 เมื่อมีการตระหนักว่าเราจำเป็นต้องระบุประเภทของยางให้ถูกต้องเพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถนำไปทำซ้ำได้และมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงได้พัฒนามาตรฐาน ISO/TS 11819-3 ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอที่พัฒนามาตรฐานเหล่านี้ยังได้ก้าวไปไกลกว่านั้น การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ยังแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการปล่อยเสียงออกมาเท่าๆ กับยางรถและพื้นผิวของถนน ซึ่งเอกสารใหม่ ISO/TS 13471-1 ได้พัฒนาเพื่อใช้กรณีที่มีเรื่องของอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อมีการวัดเสียงของถนนกับยางล้อรถ
ความจำเป็นในการควบคุมเสียงของถนนกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ยังระบุให้รัฐสมาชิกต้องรายงานการปล่อยเสียงทางจราจรตามถนนสายหลักและที่มีโครงการการพัฒนาการลดเสียงหากพบว่ามีการปล่อยเสียงมากเกินไป
เอกสารใหม่ทั้งสามฉบับ ได้แก่ ISO 11819-2, ISO/TS 11819-3 และ ISO/TS 13471-1จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการระบุการมีส่วนของพื้นผิวของถนนในการเกิดมลพิษทางเสียงได้
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษามาตรฐานดังกล่าวได้จาห้องสมุดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store.
ที่มา: https://www.iso.org/news/Ref2179.html
Related posts
Tags: ISO, standard, Standardization, traffic noise
Recent Comments