MASCIInnoversity เคยนำเสนอบทความเรื่อง “โดรน” ที่สร้างเลียนแบบ “แมงกะพรุนว่ายน้ำ” และเรื่อง “เมื่อโดรนกลายเป็นผู้ช่วยสายลับ” มาแล้ว สำหรับบทความในตอนนี้ เป็นเรื่องของ “โดรนขนาดจิ๋ว” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามทดสอบในสิ่งใหม่ๆ และได้หันมาสนใจศึกษา “แมลง” มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจกลไกการบินเป็นเวลานานด้วยร่างกายของแมลงที่มีขนาดเล็กและนำมาใช้ในการสร้างโดรนขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ก็พบว่าแบตเตอรี่ของโดรนกลับหมดอย่างรวดเร็ว
ในขณะเทคโนโลยีโดรนมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดก็คือการลดขนาดของหุ่นยนต์ที่บินได้ ยิ่งโดรนมีขนาดเล็กลงเท่าไร ก็ยิ่งมีเป็นประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ทั้งในเรื่องของการประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่แคบและความคดเคี้ยวที่เหมาะในการสอดแนม
ดังนั้น จึงเกิดการทดลองใหม่ๆ ของนักวิทยาศาสตร์โดยการศึกษาการบินของแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อนำมาสร้างโดรน โดยนักวิจัยที่ศูนย์ทดลองชาร์ลส์ สตาร์ก แดรปเปอร์ และสถาบันการแพทย์ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ส ได้นำเสนอ DragonflEye หุ่นยนต์แมลงปอแห่งอนาคตที่นักวิจัยสามารถควบคุมได้
DragonflEye พัฒนามาจากการตัดต่อพันธุกรรมแมลงปอธรรมดาที่มี steering neurons ในระบบประสาทซึ่งไวต่อแสงและมีโครงสร้างขนาดเล็กลักษณะคล้ายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออฟติกอยู่ในตาของแมลงปอที่ส่งสัญญาณของแสงไปยังสมอง ทำหน้าที่ควบคุมทิศทาง การบินผ่านรีโมทคอนโทรล สำหรับตัวแมลงปอ จะใส่กระเป๋าสะพายหลังขนาดเล็กซึ่งมีเซ็นเซอร์และแผงโซล่าเซลล์จิ๋วเพื่อให้พลังงานแก่เทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
ในทางทฤษฎีแล้ว นักวิจัยจะเป็นผู้นำทางแมลงปอและจะมีการเก็บข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์จากสภาพแวดล้อมซึ่งหากมนุษย์เดินทางไปเก็บข้อมูลเองก็จะไม่ปลอดภัย เทคโนโลยีนี้ ถึงแม้จะเป็นประโยชน์มากแต่ก็ทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน ลองนึกภาพว่ามีการตัดต่อพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตที่มีสปีชีย์ที่สูงกว่าแมลง หรือการใช้หุ่นยนต์ที่มีลักษณะภายนอกเหมือนแมลงทั่วไปในการสอดแนมหรือสืบข้อมูลอย่างลับๆ เราจะรู้สึกอย่างไร แต่หุ่นยนต์แมลงก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เราเป็นอย่างมาก เช่น การสำรวจพื้นที่ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถทำให้แมลงปอบินได้เป็นเส้นตรงเท่านั้น พวกเขายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาและวิจัยต่อไป
ในอนาคต โดรนซุปเปอร์จิ๋ว “ไซบอร์กแมลงปอ” นี้ อาจมีการนำไปใช้กับคนที่เป็นอัมพาตเพื่อช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและพัฒนาการใช้งานที่กว้างขวางกว่าเดิมก็เป็นได้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา: http://www.popularmechanics.com/flight/drones/a26729/genetically-modified-cyborg-dragonfly/
Related posts
Tags: cyborg, DragonflEye, drone, robot, Robotic
Recent Comments