ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานวิเคราะห์ “ 5 เทรนด์ธุรกิจแรงแซงโค้งปี 2017” ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยระบุว่า 3 ใน 5 ธุรกิจที่มาแรงในปีนี้ คือ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Conscious) ธุรกิจอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ (Aged Society) และธุรกิจที่ตอบโจทย์ของเทรนด์คนกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ (Tech-Savvy)
แนวโน้มดังกล่าวนับว่าเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งในประเทศไทยให้ความสนใจกันมากขึ้น สำหรับสหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ซึ่งวารสาร Sloan Management Review ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจไว้ว่าเป็นบริษัทที่ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมที่ทันสมัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อตอบโจทย์สภาพสังคมในปัจจุบัน
บริษัทนั้นมีชื่อว่า Cardinal Health Inc. บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา ห้องปฏิบัติการทดสอบ และการดูแลรักษาสุขภาพ ก่อตั้งเมื่อปี 2514 (ค.ศ.1971) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดับลิน มลรัฐโอไฮโอ และเมื่อปี 2557 (ค.ศ.2014) ได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมดูแลสุขภาพขึ้นมาใหม่ อยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท มีชื่อว่า ฟิวส์ (Fuse) โดยมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญข้ามสาขา เช่น วิศวกรชีวการแพทย์ นักออกแบบ และนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการดูแลสุขภาพผู้ป่วยหรือแม้แต่กับผู้ป่วยเองเพื่อพัฒนาและทดสอบแนวคิดที่จะตอบสนองความต้องการการดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
ก่อนที่จะเปิดศูนย์ “ฟิวส์” อันที่จริงแล้ว ก็มีการดูแลด้านเทคโนโลยีที่ช่วยในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทีมผู้นำอาวุโสของบริษัทเริ่มตระหนักดีว่าการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการดูแลสุขภาพมีความแตกต่างมากจากระบบการจัดการคลังสินค้าขนาดใหญ่ ดังนั้น ซีอีโอของ Cardinal Health Inc.ในส่วนของเภสัชกรรมจึงมีแนวคิดที่จะก่อตั้ง “ฟิวส์” เพื่อสร้างแพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจสุขภาพ ซึ่งแนวคิดนี้มาจากวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทและจากลูกค้าด้วย
ฟิวส์ได้ใช้เทคนิคบางอย่างจากลีนสตาร์ทอัพและบางอย่างที่สะท้อนถึงกระบวนการ Design Sprint ที่ใช้ 5 ขั้นตอนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในการตอบคำถามทางธุรกิจที่สำคัญซึ่งเป็นการสร้างโปรโตไทป์และทดสอบแนวคิดกับลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ในตลาด โดยได้มีการค้นหาแนวคิดผ่านกลไกด้านการวิจัยและพัฒนา และมีการร่วมกับหน่วยธุรกิจในการตั้งธุรกิจใหม่ผ่านการทำการตลาด การขาย และการดูแลลูกค้าพื่อก้าวไปสู่ขั้นที่จะสามารถดำเนินธุรกิจใหม่ได้จริง
กระบวนนวัตกรรมของฟิวส์ มีอยู่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ สำรวจ ทดลอง และนำร่อง เพื่อที่ว่าจะสามารถถอนตัวออกจากธุรกิจได้ทันหากมีปัญหา และบริษัทก็ได้ทดลองซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งมั่นใจว่าสามารถสร้างคุณค่าของบริการให้เกิดขึ้นได้จริง แต่คำถามต่อไปก็คือ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าการสร้าง “ฟิวส์” ขึ้นมาจะประสบความสำเร็จ
ฟิวส์มีกระบวนการที่เรียกว่า “จุดประกาย” โดยได้ทำการจัดสรรเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงให้กับพนักงานในการระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาการดูแลสุขภาพและเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งถ้าพนักงานมีแนวคิดที่น่าสนใจ บริษัทก็จะอนุญาตให้พวกเขาใช้เวลาสร้างสรรค์แนวคิดนั้นให้เกิดขึ้นจริง เพราะเชื่อว่าแนวคิดที่ไม่เหมือนใครของพนักงานนั้นจะช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการตั้งคำถามและมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา
ตลอดระยะเวลา 3 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท ได้มีการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าหลายเรื่องและทำให้ปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น บริษัทได้สนับสนุนกระบวนการที่เรียกว่า Medication Reconciliation ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ที่บ้านก่อนเข้ามารับการ รักษาตัวในโรงพยาบาลให้ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถทําได้ในกรอบเวลาที่กําหนด ทั้งชื่อยา ขนาดรับประทาน ความถี่และ วิถีใช้ยานั้น ๆ เพื่อทําให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา เพราะเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้ว จะเป็นการยากที่จะจัดการกับยา และหากว่าผู้ป่วยจะต้องย้ายสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นที่เดียวกันหรือต่างสถานที่ก็จะอำนวยประโยชน์แก่ทั้งแพทย์และคนไข้ในด้านความสะดวกและความปลอดภัย ซึ่งบริษัทได้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้การสั่งยาสามารถส่งตรงไปยังคนไข้ และด้วยระบบการจัดการด้วยเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง และไม่ซ้ำซ้อน
บริษัทได้สร้างแพล็ทฟอร์มที่เรียกว่า OutcomesMTM ซึ่งโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ท้ายสุดตามชื่อ Outcomes ของบริษัท จากการออกแบบ การส่งมอบ และการบริหารจัดการโปรแกรมการจัดการด้านการบำบัดรักษาด้วยยา ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เภสัชกร และคนไข้ได้รับผลที่น่าพึงพอใจสูงสุด โดยคำนึงถึงระบบแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกร คนไข้ หรือผู้ที่เป็นตัวแทนด้านการวางแผนการดูแลสุขภาพ
นอกจากนี้ ในการที่จะทำให้พนักงานสามารถเข้าใจและเข้าถึงเครือข่ายภายนอก บริษัทได้ส่งพนักงานออกไปสังเกตในสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น โรงพยาบาล เพื่อถามคำถาม และใช้กระบวนการ Design Sprint เพื่อให้เข้าใจลูกค้าของลูกค้าอย่างแท้จริง
สำหรับทีมที่ทำงานภายในบริษัท ผู้บริหารได้พูดคุยทั้งทีมการตลาดและทีมกลยุทธ์เกือบทุกวัน ดังนั้น จึงมีความร่วมมือภายในองค์กรค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ผู้บริหารคิดว่ามีความสำคัญมากที่สุดก็คือความร่วมมือกับลูกค้า บริษัทได้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพยายามก้าวไปล่วงหน้าหนึ่งก้าวเสมอในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ บริษัทหาโอกาสที่จะคิดหาทางแก้ไขปัญหาด้านการดูแลสุขภาพที่ชุมชนเผชิญอยู่และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ในงานอีเว้นท์ของสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หรือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
นวัตกรรมในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ดังกล่าว ทำให้มีการเรียนรู้ในหลายด้าน นับตั้งแต่แนวโน้มธุรกิจไปจนถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ การทดสอบตลาด และการบริหารงาน และสำหรับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมนี้ยังมีแนวโน้มที่น่าสนใจและศึกษาค้นคว้าอีกมากมายซึ่งสามารถนำมาสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและตอบโจทย์ของคนยุคใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีด้วย
ที่มา:
3. http://www.cardinalhealth.com/en/product-solutions.html
Related posts
Tags: Fuse, haelth care, Health, IoT
ความเห็นล่าสุด