วารสารไอเอสโอโฟกัสได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลกในเรื่องของเศรษฐกิจโลก และสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังนั้นช่วยสนับสนุนการใช้งานด้านมาตรฐานเพื่อที่จะช่วยตอบสนองความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกด้วย
ไซม่อน แบบติสท์ Global Chief Economist ของหน่วยงาน The Economist Intelligence Unit (EIU) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมข้อมูลด้านการวิเคราะห์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้ให้สัมภาษณ์วารสารไอเอสโอโฟกัสดังต่อไปนี้
ข้อซักถามที่ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไป องค์กรอย่างไอเอสโอจะสนับสนุนและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร ไซม่อน แบบติสท์ กล่าวว่ามาตรฐานมีบทบาทสำคัญในการบรรลุถึงประโยชน์จากเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่น ทำให้ลูกค้าในตลาดที่แตกต่างกันมีความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือช่วยให้ผู้ควบคุมกฎมีการยอมรับผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ทำให้ประเทศและภาคส่วนต่างๆ มีการใช้มาตรฐานสากลอย่างแพร่หลายซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มากและเมื่อมีความท้าทายใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยีการผลิตเช่น หุ่นยนต์หรือ AI เข้ามา ความต้องการด้านกระบวนการที่เป็นมาตรฐานก็ยิ่งเป็นประเด็นสำคัญมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเรื่องของข้อมูล
สำหรับคำถามที่ว่าเขามีความหวังเกี่ยวกับอนาคตของโลกอย่างไรนั้น เขาตอบว่าเขายังมองโลกในแง่ดีในระยะยาวสำหรับตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศจีน การเกิดขึ้นของเมืองเป็นวิถีที่ยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการเติบโตในหลายๆ พื้นที่และนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ แม้แต่งานระดับพื้นฐานในเมืองก็มีแนวโน้มจะทำให้เกิดผลิตภาพที่สูงกว่าเกษตรกรรมในครอบครัว คนที่อยู่อาศัยในเมืองสามารถเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น สำหรับตลาดส่งออกของโลกที่มีประเทศต่างๆ เข้ามาค้าขายกันมากขึ้นเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องการทำให้ประชาชนมีสถานะทางการเงินหรือรายได้ที่สูงขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลว่าความเติบโตทางด้านผลิตผลในศตวรรษหน้ากำลังจะลดลงอย่างถาวรกว่าที่เราเคยเห็นเมื่อศตวรรษที่ผ่านมาเพราะผลกระทบของการสื่อสารแบบใหม่ อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นๆ อาจจะไม่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นที่การประดิษฐ์คิดค้นได้เกิดขึ้นมาแล้วนับร้อยปีก็ได้ ลองนึกถึงผลกระทบของความร้อนที่เกิดขึ้นกับการใช้เครื่องปรับอากาศที่ก่อให้เกิดผลผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้เฟสบุ๊ก เขากล่าวว่าไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายแต่เขาคิดว่าในแง่มุมนั้น มุมมองที่เกิดขึ้นมักจะโฟกัสไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศอย่างไนจีเรีย อินเดีย เวียตนามและจีนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมากในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้นเพียงแค่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
ผู้สื่อข่าวของไอเอสโอโฟกัสถามต่อไปว่า แล้วที่วารสาร The Economist ได้มีการทำนายเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตไว้ มีอะไรที่เคยทำนายผิดพลาดบ้างหรือไม่ ไซม่อน แบบติสท์ ตอบว่า เมื่อปีที่แล้ว เขารู้สึกประหลาดใจกับผลการออกเสียงของประเทศสหราชอาณาจักรที่ต้องการให้ออกจากสหภาพยุโรปและผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำ
แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะนักทำนายส่วนใหญ่ก็ทำนายผิดทั้งสองเหตุการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไม่เห็นแนวโน้มของการเติบโตของชาติในเอเชียหรือความเสื่อมถอยในประเด็นอย่างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างที่เคยเห็นเมื่อราวปีกว่าๆ ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสได้ทราบมาว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้เข้าร่วมดำเนินรายการประชุมสุดยอดด้านอุตสาหกรรมและการผลิตของโลกในอาบูดาบีเกี่ยวกับอนาคตของการผลิต จึงถามว่ามาตรฐานสามารถจัดการกับความท้าทายของโลกที่เราเผชิญในทุกวันนี้ในภาคส่วนของการผลิตได้อย่างไร
เขาคิดว่าภาคส่วนการผลิตกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลักๆ 3 ประการ ประการแรกคือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่ากระบวนการใหม่ซึ่งหลายฝ่ายให้ชื่อว่าเป็น “อุตสาหกรรม 4.0” จะมีส่วนในการสร้างสังคมโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนให้มีงานที่ดีขึ้นและมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น มันคืออนาคตที่หุ่นยนต์และ AI เป็นต้น ที่มีบทบาทในการเพิ่มผลผลิต ทำให้สินค้ามีราคาถูกและคนมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น แต่อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนากรอบนโยบายที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และมาตรฐานที่มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับนโยบายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้
ประการที่สอง ความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความท้าทายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ระบบนิเวศในทุกๆ แห่งกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอันมหาศาลรวมทั้งภาคการผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นผ่านการใช้งานของซัพพลายเชน ดังนั้น มาตรฐานที่มีรายละเอียด มีการทวนสอบ และมีความโปร่งใสต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งซัพพลายเชนจะสามารถช่วยในเรื่องดังกล่าวได้
ประการสุดท้าย ภาคการผลิต ได้สร้างประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับตลาดเปิดและก็มีความเสี่ยงหากว่าประเทศต่างๆ มีความรู้สึกถึงความรักชาติจนนำไปสู่การลดการติดต่อกันกับประเทศต่างๆ หรือปิดประเทศ เขาคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกให้มากขึ้น และเปิดสู่สาธารณชนให้มากขึ้นและแสดงให้เห็นว่าทำไมการเปิดประเทศนั้นทำให้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า รวมทั้งทำให้มั่นใจว่าคุณค่าที่มาจากภาคการผลิตนั้นคู่ควรกับการแบ่งปันและความชื่นชมจริงๆ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2206.html
Related posts
Tags: AI, Economy, Industry4.0, ISO
Recent Comments