เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก หลายคนคงยังจำได้ถึงความตื่นเต้นในการรอชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง และแน่นอนว่าจะต้องมีวิธีการดูที่ปลอดภัย เช่น การสวมใส่แว่นตาดำ การมองผ่านกระจกสีดำ เป็นต้น ปัจจุบัน แม้ว่าเทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล แต่มนุษย์เราก็ยังต้องมีวิธีป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงและเป็นอันตรายต่อดวงตาอันบอบบาง มิฉะนั้นแล้ว อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาการมองเห็น เช่น อาการตาบอดชั่วคราว เนื่องจากการเปิดรับต่อแสงอาทิตย์โดยตรงจะทำอันตรายต่อเรตินาอันส่งผลต่อการมองเห็นอย่างกะทันหัน
อันที่จริงแล้ว วิธีง่ายๆ ในการป้องกันดวงตาก็คือการใช้แว่นกันแดดที่มีคุณภาพนั่นเอง หากเราใช้แว่นตากันแดดที่ไม่มีคุณภาพหรืออุปกรณ์ที่พอมีอยู่ตามบ้านเป็นตัวกรองแสงอาทิตย์เพื่อชมสุริยุปราคาก็คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเราเตรียมแว่นกันแดดไม่ทันละก็ ไอเอสโอแนะนำว่าให้ดูสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าได้เฉพาะตอนที่ดวงอาทิตย์ถูกเงาบดบังจนมืดสนิทเท่านั้น การมองดวงอาทิตย์ระหว่างที่กำลังเกิดสุริยุปราคาแม้เพียงแต่เสี้ยวเล็กๆ หรือมีความสว่างเพียง 1 % ย่อมไม่ปลอดภัยต่อดวงตาของเราอย่างแน่นอน เพราะมันสามารถทำลายเรตินาหรือจอประสาทตาของเราได้ซึ่งตัวกรองแสงที่ได้รับการออกแบบมานั้นก็เพื่อปกป้องดวงตาของเราจากรังสีอุลตร้าไวโอเลท และรังสีอินฟาเรดนั่นเอง
ไอเอสโอตระหนักถึงคุณภาพของแว่นกันแดดซึ่งต้องมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะปกป้องดวงตาทั้งคู่ของเรา จึงได้กำหนดมาตรฐาน ISO 12312-2: 2015 Eye and face protection — Sunglasses and related eyewear — Part 2: Filters for direct observation of the sun
ISO 12312-2 สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแว่นตาที่ไม่ใช่การปรับระยะซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง เช่น การมองสุริยุปราคา เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและวิธีทดสอบจำเป็นต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
- คำชี้แนะการใช้งาน
- ข้อควรระวังที่ว่าการมองดวงอาทิตย์ด้วยตัวกรองแสงที่ไมเหมาะสม อาจนำไปสู่การบาดเจ็บของดวงตาได้
- ข้อควรระวังว่าตัวกรองแสงที่ไม่สมบูรณ์ไม่ควรนำมาใช้
- คำแนะนำเรื่องการจัดเก็บรักษา การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา
- วันที่สิ้นสภาพของอุปกรณ์
สุดท้ายนี้ มีคำถามที่ไอเอสโอได้รับอยู่บ่อยครั้งสองคำถาม คำถามแรก มีผู้ถามว่าแว่นกันแดดสามารถใช้กับเลนส์ไกลหรือกล้องส่องทางไกลเพื่อการมองสุริยุปราคาได้หรือไม่ ไอเอสโอตอบว่าไม่ได้ เพราะแว่นกันแดดนั้นออกแบบมาเพื่อกรองแสงสำหรับนัยน์ตาของเราเอง ไม่ใช่กรองแสงสำหรับอุปกรณ์อื่น ดังนั้น ถ้าต้องการใช้ ก็ขอให้ลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่ใช้กรองแสงสำหรับอุปกรณ์นั้นๆ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความร้อนมากจนเกินไป การใช้อุปกรณ์บ้านๆ ที่ทำเองอย่างฟิล์มสีดำที่ล้างแล้วหรือกระจกรมควันนั้นไม่สามารถปกป้องนัยน์ตาของเราได้อย่างเพียงพอ
ส่วนคำถามที่สอง แล้วไอเอสโอผลิตแว่นกันแดดหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ผลิต ไอเอสโอเพียงแต่กำหนดมาตรฐานที่ผู้ผลิตสามารถนำไปใช้เท่านั้นเอง
มาตรฐาน ISO 12312-2: 2015 ช่วยดูสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
Eye and face protection — Sunglasses and related eyewear — Part 2: Filters for direct observation of the sun
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2213.html
Related posts
Tags: eclipse, ISO, ISO12312, standard, Standardization, sunglasses
Recent Comments