การให้ความใส่ใจกับการบริหารคุณภาพนับป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของวงการอุตสาหกรรม “ราง” และทำให้ “รถไฟ” มีความปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ข้อกำหนดทางวิชาการด้านรางของไอเอสโอที่ได้เผยแพร่ออกไปได้ช่วยให้รถไฟทั่วโลกมีการเดินรถที่ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมรางเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยให้โลกของเราสะดวกสบายขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมรางในช่วงปี 2343 – 2442 (ค.ศ.1800 – 1899) ซึ่งมี “พัฟฟิ่ง บิลลี่” รถจักรไอน้ำที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้ลากเลื่อนรถโกดังถ่านหินในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ไล่เรียงมาจนถึงยุคของรถไฟความเร็วสูงที่ใช้พลังงานแม่เหล็ก “แม็กเลฟ” ของญี่ปุ่นที่มีความเร็วถึง 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีการทดสอบใช้เมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) ปัจจุบัน รถไฟเป็นรูปแบบการโดยสารหลักของคนทั่วโลกรวมทั้งการขนส่งสินค้าด้วย วัตถุประสงค์เหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแต่ว่าเทคโนโลยีในภาคส่วนนี้กลับมีการพัฒนาไปอย่างเรวดเร็วมากกว่าเดิม เช่น รถไฟทันสมัยความเร็วสูงอย่าง TGV ของประเทศฝรั่งเศสที่จะมีความเร็วสูงขึ้นถึง 800 กิโลเมตรภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ระบบรางได้ปรับตัวและมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก และเพื่อที่จะอยู่รอดและเติบโต ระบบรางจึงต้องพัฒนากลยุทธ์และสร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมาปรับปรุงสมรรถนะระบบให้ดียิ่งขึ้นในธุรกิจนี้
ในการตอบสนองความท้าทายนี้ สมาคมอุตสาหกรรมรางแห่งยุโรป (European Rail Industry Association: UNIFE) จึงทำการส่งเสริมการเติบโตด้านตลาดเพื่อให้อุตสาหกรรมรางมีความยั่งยืนด้วยมุมมองที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างระบบรางรถไฟของยุโรปที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ร่วมกันได้
ในยุคของเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้ UNIFE และสมาชิกได้โฟกัสไปที่การจัดเตรียมเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความท้าทายของปริมาณการขนส่งที่เติบโตขึ้นและความต้องการเพื่อการขนส่งที่เป็นมิตรและยั่งยืน
การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมนั้น การมาตรฐานนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นในกลยุทธ์นี้ ดังนั้น UNIFE และสมาชิกจึงทำงานด้านการกำหนดมาตรฐานที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกันได้และมีความร่วมมือกับโครงการวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปที่มุ่งไปยังการทำให้ระบบรางสามารถผสมผสานกันได้ในเชิงเทคนิค
สำหรับ UNIFE ปฏิบัติการตามเป้าหมายในเรื่องของการมาตรฐานนับว่าเป็นวิธีการในการเพิ่มผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อนวัตกรรมหรือทรัพย์สินทางปัญญาด้านอุตสาหกรรม ในแง่มุมนี้ การมาตรฐานจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายด้านนวัตกรรมด้วย และเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่ยั่งยืนและมีนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมราง นับตั้งแต่การสื่อสารดิจิตอลไปจนถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกระแสไฟฟ้านั้น จะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้
แต่เราจะรักษาคุณภาพของระบบรางได้อย่างไร สิ่งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพในทุกขั้นตอนของซัพพลายเชน และเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่เรื่องนี้ได้รับความใส่ใจเป็นอย่างมากโดยการใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมรางในระดับสากล (International Railway Industry Standard: IRIS) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นำไปใช้โดยยุโรปและมีพื้นฐานอยู่บนมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001: 2008 – Quality management systems – Requirements ซึ่งเป็นตัวกำหนดแนวทางคุณภาพที่ได้รับการรับรอง
เบอร์นาด คอฟมานน์ ผู้จัดการทั่วไปของ UNIFE กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2549 (ค.ศ.2006) การรับรองโดย IRIS ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุด มีการรับรองทั่วโลกถึง 1500 รายจาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในช่วงไม่ถึง 10 ปี การรับรองนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลกไปแล้ว และบริษัทระบบรางขนาดใหญ่ยังร้องขอให้ซัพพลายเออร์ขอรับการรับรองดังกล่าวด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจึงเห็นความจำเป็นในการทำให้มาตรฐานนี้เติบโตและได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ทางกลุ่มจึงตัดสินใจก้าวไปอีกขึ้นหนึ่งโดยการทำให้มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสากล
กระบวนการพัฒนามาตรฐานระบบรางได้มีการดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วยผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ที่สุดของโลก ผู้รวมระบบและผู้ปฏิบัติการ เช่น Alstom, Bombardier, Siemens, Faiveley, Knorr-Bremse, Nabtesco, Voith, DB, CR, SBB, SNCF และองค์กรวิจัยด้านรางต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล่านี้รู้ว่ามาตรฐาน ISO 9001:2008 ถึงเวลาต้องทบทวนและใบรับรอง IRIS ที่มีอยู่เดิมกำลังจะหมดอายุ เวลาก็เหลือน้อยลง ดังนั้น พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้ข้อกำหนดเชิงเทคนิคโดยใช้เวลาให้น้อยลงด้วยความตั้งใจที่จะทำให้การทำตามมาตรฐานสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง มาตรฐาน ISO/TS 22163 การนำระบบการจัดการคุณภาพไปใช้กับระบบราง- ข้อกำหนดระบบการบริหารธุรกิจสำหรับองค์กรด้านราง: ISO 9001:2015 และข้อกำหนดบางประการสำหรับการนำไปใช้ในภาคส่วนราง จึงได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 269 – Railway applications ซึ่งมีเลขานุการคือสถาบันแห่งชาติของประเทศเยอรมัน (DIN) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการมาตรฐานและอุตสาหกรรมรางจากประเทศต่างๆ 11 ประเทศ รวม 35 คน
คอฟมานกล่าวว่า ความแตกต่างหลักระหว่าง ISO/TS 22163 และมาตรฐานฉบับก่อนหน้านี้ของ IRIS คือการโฟกัสที่เพิ่มขึ้นในด้านความปลอดภัยและการจัดการโครงการ ผู้สร้างรถไฟทุกวันนี้มีการสร้างข้อกำหนดเดี่ยวๆ หลักๆ ขึ้นมา และไม่มีรถไฟสองขบวนที่เหมือนกันสำหรับลูกค้าคนเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ก็มีความแตกต่างมากในรถไฟแต่ละแบบ ในการที่จะตอบสนองความต้องการและข้อกำหนดที่มาจากลูกค้าทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งอุตสาหกรรมรางเป็นธุรกิจเชิงโครงการที่มีหัวใจสำคัญคือความปลอดภัยเป็นอย่างมาก จึงมีข้อกำหนดทางเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวอยู่เสมอ
ชีลล์ โชปาร์ กีโยโม ผู้อำนวยการ BNF ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับการมาตรฐานด้านรางของประเทศฝรั่งเศส ซึ่อยู่ในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 269 และเป็นผู้นำโครงการเพื่อมาตรฐานใหม่ กล่าวถึงประโยชน์หลักๆ คือการลดค่าใช้จ่าย องค์กรด้านอุตสาหกรรมรางที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/TS 22163 สามารถหลีกเลี่ยงการประเมินเพิ่มเติมรวมทั้งจากผู้ซื้อหรือจากมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งหมายถึงคุณภาพที่สูงขึ้นและความมั่นใจที่มากขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายการรับรองที่ถูกลง สิ่งนี้นับว่าเป็นข่าวดี สำหรับผู้เล่นในซัพพลายเชน รวมไปถึงจุดสุดท้ายซึ่งก็คือผู้โดยสารนั่นเอง
ชีลล์ โชปาร์ กีโยโม กล่าวต่อไปว่าข้อกำหนดทางวิชาการได้รับการตีพิมพ์ในเบื้องต้นเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสแล้วและจะมีภาษาอื่นๆ ตามมาอีก การนำมาตรฐานนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมรางอย่างกว้างขวางจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในรถไฟและระบบเครือข่าย ปัจจุบัน มาตรฐานดังกล่าวได้เริ่มมีการทบทวนขึ้นแล้วด้วยความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรางจากประเทศต่างๆ และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากลอย่างเต็มรูปแบบ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2217.html
ความเห็นล่าสุด