เมื่อปี 2550 อัล กอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2536-2544 (ค.ศ.1993 – 2001) ได้เขียนหนังสือเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ในชื่อ “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” และอัล กอร์ ก็ได้รณรงค์ให้โลกเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลต่อมวลมนุษยชาติและเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้น เป็นต้นมา ได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง วารสาร Futurism มีคำตอบจากการเข้าสัมภาษณ์อดีตประธานาธิบดีอัล กอร์ในประเด็นดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้
เขาระบุอย่างชัดเจนว่า สิ่งสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงไป 3 ประการหลังจากการรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน คือ ประการแรก ภาวะโลกร้อนนับวันก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลกของเรามากขึ้น ประการที่สอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างระดมความคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน และประการที่สาม ผู้นำทั่วโลกได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงและมีความเคลื่อนไหวจากระดับรากหญ้าขึ้นไปถึงระดับผู้นำของโลก โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทชั้นนำต่างเห็นความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล หรือบริษัทอื่นๆ
อัล กอร์ กล่าวว่าเขามองเห็นแนวโน้มในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งไม่มีเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ก็มีการพึ่งพาพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งมีราคาถูกลงกว่าครึ่งหนึ่งของราคาไฟฟ้าที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหินหรือแก๊ส
อย่างไรก็ตาม อัล กอร์กล่าวว่าเขาไม่สงสัยในเรื่องที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว แต่สิ่งที่ยังมีความไม่แน่นอนและต้องอาศัยความกล้าหาญในการก้าวข้ามปัญหาไปก็คือเรื่องของการเมืองรวมไปถึงการกำหนดนโยบายและกฎหมาย แม้ว่าภาคส่วนของการเมืองจะให้ความสำคัญในการเข้าร่วมกับข้อตกลงปารีสก็ตาม และถึงแม้ว่าโลกของเราจะมุ่งมั่นเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ซึ่งเขาเชื่อว่าการปฏิวัติด้านพลังงานเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโลกเราอย่างแท้จริง
ความหวังของอัล กอร์และคนทั่วโลกที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนให้โลกของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นไม่เกินสององศา ตามข้อตกลงปารีส หรือ COP21 เมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนทั้งโลกซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร MASCI Innoversity จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป
ที่มา: https://www.facebook.com/pg/futurism/videos/
Related posts
Tags: Al Gore, Climate Change, Environmental Management, Global Warming
ความเห็นล่าสุด