บทความ เรื่อง ไอเอสโอก้าวไกลไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตอนที่ 1 ได้นำเสนอถึงเรื่องราวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของโลก และไอเอสโอได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228, Tourism and related services ขึ้นมา และในปีนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนา (International Year of Sustainable Tourism for Development) อีกด้วย
บทความในตอนที่ 2 นี้จะขอนำเสนอบทบาทของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเวทีของโลก กล่าวคือ จะเป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
แต่การท่องเที่ยวจะมีส่วนในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร การท่องเที่ยวมีศักยภาพในเรื่องนี้เป็นอย่างมากในการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งมีการกำหนดแนวทางของวาระการพัฒนาของโลกไปจนถึงปี 2573 (ค.ศ.2030) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 8, 12 และ 14 ในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนและทรัพยากรทางน้ำตามลำดับ กฎบัตรของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมเอาเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมไว้ทั้งหมด 17 หัวข้อด้วยกันซึ่งแสดงถึงโอกาสในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
สำหรับไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หัวข้อความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่มีการให้ความสำคัญอยู่เสมอมา และหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญมากที่สุดของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228 เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ ความต้องการที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน จึงมีการแต่งตั้งกลุ่มงานใหม่ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องหลักของโมเดลการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้ภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มงานอีกสองกลุ่มที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228 ได้ริเริ่มโครงการด้านความยั่งยืนขึ้นมา โดยกลุ่มงานด้านการท่องเที่ยวผจญภัยและบริการด้านการดำน้ำกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานที่จะช่วยยกระดับความตระหนักของผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวให้คำนึงถึงความสมดุลระหว่างเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอันเป็นเสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในการทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อการท่องเที่ยวลงให้ได้
ในขณะที่การท่องเที่ยวของโลกได้มาถึงจุดที่ใครๆ ก็ต้องการ ความต้องการด้านความยั่งยืนได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะอยู่รอดได้โดยรวม แต่จะทำได้อย่างไร ลำดับแรก สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศที่ตอบสนองความต้องการตลาดอย่างแท้จริง สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีความยืดหยุ่นและมีเป้าหมายนำทาง ซึ่งคณะกรรมการ ISO/TC 228 เป็นกลุ่มที่กำลังดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่
การนำมาตรฐานนี้ไปใช้ในระดับอุตสาหกรรมนั้นเป็นที่คาดหวังว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนสำหรับกิจกรรมและการส่งมอบบริการในทุกระดับ คณะกรรมการ ISO/TC 228 ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับภาคส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไปอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป เรื่องนี้เป็นความหวังเพื่ออนาคต การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นวิธีการจัดการกับชีวิตให้มีความมั่นใจในเรื่องของธรรมาภิบาลต่อโลกของเรา การมีปรัชญาต่อการบริหารจัดการชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งการจัดการข้อมูลด้านพลังงานและทรัพยากรของโลก
ความสำเร็จของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228 ได้รับการยอมรับโดยจะเห็นจากการได้รับรางวัลด้านความเป็นเลิศ ดร.ลอเรนซ์ ดี ไอเคอร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของไอเอสโอที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
สำหรับผู้สนใจมาตรฐานที่พัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228 – Tourism and related services สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ https://www.iso.org/committee/375396.html
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2223.html
Recent Comments