เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ วิทยาการด้านแขนและขาเทียมมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ศักยภาพด้านเทคโนโลยีได้สร้างแรงบันดาลใจเป็นอย่างมากในการถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่แบบโลกของไซบอร์กในอนาคตอีกไม่นานนี้ใช่หรือไม่ (อย่างอีลอน มัสก์ วิศวกรและนักประดิษฐ์ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ ประธานบริษัทเพย์พอล เจ้าของความคิดระบบขนส่งความเร็วสูง “ไฮเปอร์ลูป”และอื่นๆ อีกมากมาย) แต่สำหรับจอห์นนี่ แมธีนี ผู้สูญเสียแขนไปกับโรคมะเร็งเมื่อปี 2549 (ค.ศ.2005) เขาได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยแขนหุ่นยนต์ที่สามารถสั่งการได้อัตโนมัติด้วยความคิดหรือจิตใจ เขาเพิ่งได้รับแขนหุ่นยนต์นี้เมื่อปลายปีที่แล้วและกำลังจะทดสอบการใช้งานตลอดทั้งปีต่อไป
สำหรับแขนหุ่นยนต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาจากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอห์น ฮอพกินส์ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปฏิวัติแขนขาเทียม เป้าหมายของโครงการซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมหรือดาร์ป้า (Defense Advanced Research Projects Agency) ภายใต้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ก็คือการสร้างแขนเทียมที่ควบคุมกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้จากส่วนกลางของสมองเพื่อฟื้นฟูหน้าที่การทำงานในบริเวณที่ทำหน้าที่ควบคุมประสาทส่วนกลางทั้งหมด โครงการนี้กำลังศึกษาด้านแขนเทียมโดยเฉพาะสำหรับคนไข้ที่มีแขนขาดส่วนบน และแมธีนีจะเป็นคนแรกที่ได้ใช้ชีวิตกับแขนหุ่นยนต์เทียมจริงๆ จากโครงการดังกล่าวจึงคาดว่าจะมีการทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ในระยะยาวด้วย
ถึงแม้ว่าแขนหุ่นยนต์เทียมจะดูน่าประทับใจ แต่ผู้ใช้งานจะต้องไม่ทำให้แขนเทียมสัมผัสกับน้ำและจะต้องไม่ขับรถขณะใช้งานด้วย แมธีนีจะต้องจำให้ขึ้นใจในเรื่องนี้ มิฉะนั้น จะมีปัญหาการใช้งานในชีวิตประจำวันได้
คำว่าไซบอร์กอาจจะทำให้เรานึกถึงโลกของการ์ตูนหรือภาพยนต์ที่มีภาพของสุดยอดวายร้าย แต่ปัจจุบัน ในโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็นการผสมผสานเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปกับวิทยาการทางการแพทย์ในการสร้างแขนขาเทียม และทำให้คนไข้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ในบางกรณี อุปกรณ์พวกนี้สามารถฟื้นฟูความสามารถของระบบประสาทในด้านการรับรู้และการเคลื่อนไหวได้ การแนะนำให้คนไข้ที่มีแขนหรือขาขาดได้ใช้แขนหรือขาเทียมจะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือคนที่เกิดมาไร้แขนหรือขาสามารถใช้งานและเคลื่อนไหวอวัยวะได้ดีขึ้น และที่ดีที่สุดก็คือผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระและรู้สึกเป็นธรรมชาติ
องค์ประกอบหลักสองประการของการทดสอบแขนและขาเทียมในปัจจุบันก็คือ ความสามารถของการใช้แขน และวิธีการควบคุมสมอง ซึ่งแมธีนีจะต้องทดสอบการใช้งานเสียก่อน ถ้าแขนเทียมหุ่นยต์ได้รับการควบคุมด้วยความคิดหรือจิตใจเพียงอย่างเดียวได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้วประสบความสำเร็จในการใช้งาน ก็จะเป็นการปฏิวัติวงการแขนขาเทียมเลยทีเดียว และจะสามารถพัฒนาให้เป็นออร์แกนิคมากขึ้นโดยสามารถทำงานไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหว ความตั้งใจ และร่างกายของคนไข้อีกด้วย และไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อคนไข้ที่แขนหรือขาขาดเท่านัน้น แต่ยังนำไปสู่การใช้งานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ อีก เช่น การเดินทางไปยังดาวอังคาร เป็นต้น
อีลอน มัสค์กล่าวว่าถ้ามนุษย์สามารถตามทันเครื่องจักรในการสำรวจและเข้าถึงระบบสุริยะอันห่างไกลเพื่อก้าวไปไกลกว่าสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เราก็น่าจะจำเป็นต้องร่วมทำงานกับเครื่องจักรได้ด้วย ปัจจุบัน มนุษย์เรายังคงมีข้อจำกัดทางชีววิทยาที่เข้มงวดและชัดเจน แต่ถ้าเราได้รับการช่วยเหลือหรือเชื่อมต่อกับเครื่องจักรที่สามารถควบคุมความคิดหรือจิตใจเราได้ เราก็จะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดด้านชีววิทยาและกลายเป็นมนุษย์แบบใหม่ในโลกอนาคตที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ที่มา: https://futurism.com/mind-controlled-robotic-arm-johnny-matheny/
Related posts
Tags: Future Management, Future watch, Innovation, robot, Robotic
ความเห็นล่าสุด