การสุขาภิบาลที่ยั่งยืนเพื่อคนทั่วโลก ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงเรื่องของความยั่งยืนว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจซึ่งมูลนิธิบิลล์แอนด์เมลินดาเกทส์ได้ก้าวเข้ามายังไอเอสโอเพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ โดยดูเลย์ โคเน่ ประธานคณะกรรมการวิชาการเอสโอ ISO/PC 305 ได้เล่าว่ามูลนิธิดังกล่าวเป็นองค์กรการกุศล มีเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในโลกนี้และต้องการกำจัดโรคร้ายให้หมดไป โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการขาดสุขาภิบาลที่ดีซึ่งเป็นแหล่งก่อโรคที่สำคัญ ซึ่งได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดของเสียแบบใหม่ที่สามารถทำงานแยกส่วนได้ และพยายามสร้าง ห้องน้ำที่มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสะดวกสบายเท่ากับห้องน้ำแบบเดิมที่มีอยู่
สำหรับในบทความตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงประสบการณ์ที่ ดูเลย์ โคเน่ ได้พบเจอและแนวคิดในเรื่องของการสุขาภิบาลสมัยใหม่ ดังต่อไปนี้
ในวัยเด็ก ดูเลย์ โคเน่เติบโตขึ้นมาในประเทศโกตดิวัวร์หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ไอวอรี่โคสต์ ตั้งแต่เด็กจนโต เขาไม่เคยมีความฝันที่จะทำงานด้านการสุขาภิบาล แต่อยากเป็นนักบินอวกาศ หรืออย่างน้อยก็เป็นนักบินในสายการบินสักแห่ง เขาจึงโฟกัสไปในการเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี และทำได้ดีเยี่ยมในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เพื่อนส่วนใหญ่ของเขาได้ไปเรียนแพทย์ ทำให้เขาเห็นว่ามีคนในชุมชนไม่น้อยได้เสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างโรคท้องร่วง มาลาเรีย และไข้ไทฟอยด์ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา
ลองคิดถึงจำนวนห้องน้ำที่บ้าน เราดื่มน้ำจากก๊อกได้หรือไม่ เราใช้ห้องน้ำกี่ลิตรทุกๆ ครั้งที่กดชักโครก สำหรับประเทศของเขา คนส่วนใหญ่ไม่มีทรัพยากรใดๆ ที่จะใช้สอยเพื่อจับจ่ายสิ่งที่หรูหราแบบนี้ นี่คือโศกนาฏกรรมที่ชีวิตต้องสูญเสียไป เพราะเราไม่สามารถจัดการกับของเสียของมนุษย์
ความฝันที่จะทำงานในนาซ่าจึงเป็นอันพับไปเพราะเขาได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปช่วยเรื่องของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการสุขาภิบาล เพื่อที่จะช่วยชีวิตคน ต่อมา เขาได้เป็นผู้นำทีมวิจัยและทำงานที่มูลนิธิเมลินดาแอนด์เกทส์ซึ่งทำให้เขาได้ก้าวเข้ามาทำงานกับไอเอสโอ
การสุขาภิบาลแบบแยกส่วนนับเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ในการที่จะพัฒนาสิ่งนี้ จำเป็นต้องมีแนวทางให้นวัตกรสามารถลงทุนในทรัพยากรได้อย่างชาญฉลาด สิ่งที่เราค้นหาคืออะไร มันคือสมรรถนะเดียวกันและคุณภาพของงานบริการเดียวกันกับแนวทางแก้ไขปัญหาแบบดั้งเดิม ด้วยความหวังที่จะทำให้มันมีราคาถูกลง เราต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองทุกคนได้ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับในประเทศเนปาลหรือประเทศบูกีน่าฟาร์โซ หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
แต่แนวทางการแก้ปัญหาการสุขาภิบาลทุกวันนี้ยังคงมีราคาแพง เราต้องการประหยัดสเกลเพื่อทำให้ราคาถูกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่มาตรฐานสากลสามาชถช่วยได้ด้วยการกำหนดข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของประชากรจำนวนมาก เมื่อใดที่มาตรฐานมีการรับไปใช้ในประเทศต่างๆ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์และแข่งขันกันส่งมอบนวัตกรรมและบริการที่ดีที่สุดในราคาที่จ่ายได้มากที่สุด
ความสนใจในเรื่องนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเป็น 10 ปีที่แล้ว การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อนี้ แทบจะไม่ทำให้คนนับร้อยหันมาสนใจได้ แต่ทุกวันนี้ เราสามารถจัดการประชุมในเรื่องนี้กับคนเป็นพันๆ คนได้ เราจำเป็นต้องสร้างความตั้งใจและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ รัฐบาลจากประเทศต่างๆ อย่างบังคลาเทศ จีน อินเดีย เนปาล บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล หรือแอฟริกาใต้ ก็กำลังเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
ดูเลย์ โคเน่ คิดว่าเขาโชคดีที่ได้เป็นประธานในคณะกรรมการนี้ ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมกับไอเอสโอ เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นผู้แทนที่ช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกนี้ได้หรือไม่ แต่ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิก 46 ประเทศที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการซึ่งมีเลขานุการคือสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (ANSI) และสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศเซเนกัล (ASN) เข้ามาทำงานด้วย
เขารู้สึกยินดีที่ได้เห็นการมีพันธสัญญาด้วยความกระตือรรือร้นและการมีส่วนร่วมของประเทศจากอาเซียนและอัฟริกา สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของหลายๆ ประเทศกำลังเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นมาจากหลายสาขา ไม่ใช่แค่สาขาวิศวกรรมศาสตร์สุขาภิบาลเท่านั้น ยังมีนักจุลชีวิวิทยา ผู้ซึ่งสามารถพูดเกี่ยวกับความเข้มข้นของเชื้อโรคและการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันที่มีอยู่เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสาขาการศึกษา สาขาอุตสาหกรรม รวมทั้ง ผู้ผลิต และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และสุดท้าย คือมีเครือข่ายอย่างสมาคมน้ำแห่งอัฟริกา ซึ่งนำผู้เชี่ยวชาญจากผู้ให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องน้ำ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น Toilet Board Coalition ซึ่งนำเอาธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องการสุขาภิบาลที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับท่อน้ำทิ้ง
อย่างที่เราเห็นแล้วว่ามีกลุ่มที่แตกต่างกันมากมายและมีการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมกัน เขากล่าวว่าด้วยเหตุนี้ มาตรฐานเชิงนวัตกรรมดังกล่าวน่าจะมีความพร้อมภายในปี 2561 นี้ เพื่อที่ว่าจะช่วยให้คนนับพันล้านทั่วโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยมาตรฐานและนวัตกรรมที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา
ที่มา:
1. https://www.iso.org/news/ref2265.html
2. https://www.cdc.gov/
Related posts
Tags: Health, Standardization, Sustainability, water management
Recent Comments