MIT Sloan Management Review ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อสังเกตว่าคนจำนวนมากไม่จำกัดว่าจะมีอายุเท่าใด มักจะติดสมาร์ทโฟนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และเพื่อไขข้อสงสัยว่าหากไม่มีโทรศัพท์มือถือสักหนึ่งวันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ทีมวิจัยจึงได้ทำวิจัยในโครงการหนึ่งวันที่ปราศจากสมาร์ทโฟน โดยทำการสำรวจพฤติกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย และผู้ที่ลงทะเบียนหลักสูตรผู้นำในมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี และบอร์โด ฝรั่งเศส จำนวน 153 คนซึ่งเข้าร่วมโครงการระหว่างปี 2558 – 2560 (ค.ศ.2015 – 2017) โดยมีเงื่อนไขคือจะต้องงดเว้นการติดต่อทางโทรศัพท์หนึ่งวันและจดบันทึกประสบการณ์ของการงดใช้สมาร์ทโฟนเป็นเอกสารไว้
ทั้งนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะไม่สามารถติดต่อผู้ปกครอง ครอบครัว หรือคนรู้จักได้ จึงได้มีการแจ้งให้พวกเขาเหล่านั้นทราบเงื่อนไขล่วงหน้าไว้ก่อน หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ให้ติดต่อมายังเพื่อนหรืออาจารย์เพื่อรับเรื่องไว้
พวกเขาใช้เวลาอย่างไร
ผลคือ นักศึกษาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองมีทั้งความเครียดและความวุ่นวาย เนื่องจากแต่ละคนได้รับการอนุญาตให้เลือกวันที่จะงดการติดต่อได้และอยู่ห่างจากโทรศัพท์ หลายคนคิดอย่างรอบคอบว่าจะเตรียมตัวอย่างไร นอกจากจะประกาศให้เพื่อน ครอบครัวทราบแล้ว ยังมีการโพสต์ไปยังโซเชียลมีเดียของตนเองด้วย หลายคนเตรียมพิมพ์ตารางรถบัส แผนที่ และสิ่งที่จำเป็นต้องใช้จากโทรศัพท์มือถือ หลายคนปรึกษาเพื่อนและเพื่อนร่วมห้องถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการปลุกโทรศัพท์ตอนเช้าโดยไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟน
นักศึกษาจะต้องบันทึกประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารไว้ และจะมีการนับคะแนนให้ถึง 30% ของคะแนนปลายภาคของหลักสูตรการเรียน ซึ่งจะต้องมีการพูดถึงวิธีการเตรียมตัวในการเข้าร่วมโครงการนี้ วิธีการใช้เวลาช่วงที่งดใช้โทรศัพท์มือถือ และประสบการ์ด้านอารมณ์รวมทั้งสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้จากการตัดขาดจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเป็นเวลาหนึ่งวันเต็มๆ
ผลลัพธ์คือ วิธีการใช้เวลาของนักศึกษา มีการจดบันทึกว่า วันนั้น ดูเหมือนเป็นวันที่ยาวนานกว่าทุกวัน บางคนกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้สามารถทำงานโครงการต่างๆ ได้เสร็จทั้งที่เคยเลื่อนเวลาทำงานออกไปถึงหนึ่งสัปดาห์ นักศึกษาชาวเยอรมันคนหนึ่งกล่าวว่า แม้ว่าจะตื่นสายกว่าปกติ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือที่ใช้ปลุก แต่เขาก็ยังมีเวลาอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และเตรียมตัวสำหรับมื้ออาหารพิเศษ
สำหรับนักศึกษาคนอื่น การมีเวลามากขึ้นในหนึ่งวันเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย เพราะเป็นการปล่อยให้พวกเขามีเวลาว่างที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี เมื่อไม่มีสมาร์ทโฟน ทุกอย่างดูเหมือนจะเสร็จอย่างรวดเร็วไปหมด บางคนบันทึกไว้ว่าระหว่างรอรถบัสและรถไฟเป็นช่วงเวลาที่นานที่สุดเพราะไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะทำอะไร จึงได้แต่คิดถึงโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา บางคนวางแผนล่วงหน้าไว้เลยว่าจะงดใช้โทรศัพท์มือถือในวันที่ยุ่งที่สุดเพื่อจะได้รู้สึกดีที่ไม่ต้องคิดถึงโทรศัพท์มือถือ
หลายคนตัดสินใจที่จะหาโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีบางคนบันทึกไว้ว่าเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนตอนที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ (ทำให้คิดถึงช่วงที่ผู้ปกครองของพวกเขาอายุเท่ากับพวกเขาตอนนี้แต่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ) และรู้สึกดีที่สามารถเดินเล่นและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ
พวกเขารู้สึกอย่างไร
นักศึกษามีประสบการณ์ด้านอารมณ์หลายอย่างปะปนกันไป อารมณ์ที่มีมากที่สุดก็คือ ความกังวล นักศึกษารู้สึกว่าความกังวลว่ามีบางอย่างที่สำคัญได้หายไปจากชีวิต ถ้าพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือถ้ามีคนมาเสนองานล่ะ จะทำอย่างไร แล้วจะติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียได้ทันอย่างไร บางคนถึงกับรายงานว่าความกังวลต่างๆ เหล่านี้ทำให้นอนไม่หลับ บางคนจึงใช้วิธีใช้สมาร์ทโฟนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าจะเข้าโครงการงดการใช้โทรศัพท์มือถือ
มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความรู้สึกร่วมของคนที่เข้าโครงการ นั่นคือ ความรู้สึกของความปลอดภัย แม้ว่าจะปิดโทรศัพท์อยู่ แต่บางคนก็เลือกที่จะใช้โหมดการบินเพราะคิดว่าอาจจะต้องใช้โทรศัพท์หากมีเหตุฉุกเฉิน บางคนก็รู้สึกกังวลในช่วงบ่ายเมื่อไม่ได้รับโทรศัพท์เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีนักศึกษาชาวอิตาเลียนเขียนถึงความกลัวเกี่ยวกับการสูญเสียการติดต่อกับผู้คนซึ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวมาก
บางคนก็บันทึกว่ารู้สึกผิดที่ไม่ได้ตอบข้อความของเพื่อนร่วมชั้น นักศึกษาหญิงชาวรัสเซียคนหนึ่งเขียนว่า การเงียบเป็นเวลานานกว่าสามชั่วโมงถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการอธิบายให้ทราบในภายหลัง การตอบกลับอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เมื่อสิ้นสุดการเข้าโครงการในหนึ่งวันเต็มๆ นักศึกษาหลายคนจึงรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยในด้านสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตหนึ่งวันโดยปราศจากสมาร์ทโฟน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
Related posts
Tags: Future watch, Technology
Recent Comments