จากบทความเรื่อง จะอยู่ได้สักวันไหม ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟน ตอนที่ 1 ได้นำเสนอผลการวิจัยในโครงการหนึ่งวันที่ปราศจากสมาร์ทโฟน ซึ่งป็นการสำรวจพฤติกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้ที่ลงทะเบียนหลักสูตรผู้นำในมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี และบอร์โด ฝรั่งเศส จำนวน 153 คนซึ่งเข้าร่วมโครงการระหว่างปี 2015 – 2017 พวกเขาจะต้องงดเว้นการติดต่อทางโทรศัพท์หนึ่งวันและจดบันทึกประสบการณ์ของการงดใช้สมาร์ทโฟนเป็นเอกสารไว้ ผลก็คือ ในด้านการใช้เวลา มีทั้งผู้ที่รู้สึกเครียด และกังวล และมีทั้งผู้ที่สามารถเตรียมการรับมือในการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ได้ดีพอสมควร และผู้ที่รู้สึกอึดอัดและคิดถึงโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา
สำหรับบทความในตอนนี้ จะกล่าวถึงผลการวิจัยในด้านความรู้สึกและสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตหนึ่งวันโดยปราศจากสมาร์ทโฟน ดังต่อไปนี้
พวกเขารู้สึกอย่างไร
นักศึกษามีประสบการณ์ด้านอารมณ์หลายอย่างปะปนกันไป อารมณ์ที่มีมากที่สุดก็คือ ความกังวล นักศึกษารู้สึกว่าความกังวลว่ามีบางอย่างที่สำคัญได้หายไปจากชีวิต ถ้าพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือถ้ามีคนมาเสนองานล่ะ จะทำอย่างไร แล้วจะติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียได้ทันอย่างไร บางคนถึงกับรายงานว่าความกังวลต่างๆ เหล่านี้ทำให้นอนไม่หลับ บางคนจึงใช้วิธีใช้สมาร์ทโฟนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าจะเข้าโครงการงดการใช้โทรศัพท์มือถือ
มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความรู้สึกร่วมของคนที่เข้าโครงการ นั่นคือ ความรู้สึกของความปลอดภัย แม้ว่าจะปิดโทรศัพท์อยู่ แต่บางคนก็เลือกที่จะใช้โหมดการบินเพราะคิดว่าอาจจะต้องใช้โทรศัพท์หากมีเหตุฉุกเฉิน บางคนก็รู้สึกกังวลในช่วงบ่ายเมื่อไม่ได้รับโทรศัพท์เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีนักศึกษาชาวอิตาเลียนเขียนถึงความกลัวเกี่ยวกับการสูญเสียการติดต่อกับผู้คนซึ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวมาก
บางคนก็บันทึกว่ารู้สึกผิดที่ไม่ได้ตอบข้อความของเพื่อนร่วมชั้น นักศึกษาหญิงชาวรัสเซียคนหนึ่งเขียนว่า การเงียบเป็นเวลานานกว่าสามชั่วโมงถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการอธิบายให้ทราบในภายหลัง การตอบกลับอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เมื่อสิ้นสุดการเข้าโครงการในหนึ่งวันเต็มๆ นักศึกษาหลายคนจึงรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมาก
พวกเขาได้อะไรจากการเรียนรู้
นักศึกษาหลายคนเริ่มเห็นว่าเทคโนโลยีมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ส่วนใหญ่สรุปว่าเทคโนโลยีมีความจำเป็นและการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากสมาร์ทโฟนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น พวกเขารับรู้ว่าเทคโนโลยีที่มีการเชื่อมต่อได้ปรับปรุงชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นและส่งเสริมให้เกิดโอกาส (เช่นสามารถติดต่อกับคนทั่วโลกได้) ที่ในอดีตไม่สามารถทำได้ นักศึกษาชายคนหนึ่งจากตุรกีอธิบายว่า เขาชื่นชมเทคโนโลยีและความสะดวกสบายในชีวิตที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี แต่หากใช้เทคโนโลยีมากเกินไปก็เป็นอันตรายได้
นักศึกษาได้พัฒนาความตระหนักที่มากขึ้นเกี่ยวกับนิสัยในการติดต่อของตนเอง นักศึกษาชาวสเปนคนหนึ่งบันทึกไว้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้แปลกใจและรู้ว่าเมื่อไรที่วันใหม่ของตัวเองได้เริ่มต้นขึ้นและสิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นตอนที่ต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาในตอนเช้าและปิดโทรศัพท์ลงเมื่อเข้านอน แม้แต่คนที่ไม่ค่อยได้พึ่งพาโทรศัพท์มือถือเท่าใดนักก็ยังรู้สึกได้ว่าใครๆ รวมทั้งตนเองจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มากมายเพียงใด
มีนักศึกษาคนหนึ่งสังเกตว่าเมื่อผู้คนจมอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ทำให้ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่สนใจผู้คนหรือไม่เคารพผู้อื่น เพื่อนของเธอถึงกับเช็คโทรศัพท์มือถือทุกๆ สิบนาที ทำให้รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของคนรอบข้างมีความผิวเผินมาก หลังจากการเข้าร่วมโครงการ มีบางคนถึงกับวางแผนเวลาที่ใช้โทรศัพท์และเวลาที่จะไม่ใช้โทรศัพท์เพื่อที่จะจัดสรรว่าให้เป็นปกติและนำเวลาที่เหลือไปใช้เป็นโอกาสสำหรับตัวเองที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกกำลังกายหรือทำอะไรให้ช้าลงและมีสติมากขึ้น
การที่ “จะอยู่ได้สักวันโดยปราศจากสมาร์ทโฟน” จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับคนในยุคนี้ แต่หากพิจารณาถึงผลการวิจัยดังกล่าวแล้ว ก็ทำให้เรามองเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบของสมาร์ทโฟน และน่าจะทำให้เราหันกลับมาจัดสรรเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือตลอดจนสร้างสมดุลให้กับชีวิตของตนเองมากขึ้น คุณผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรบ้างคะ
Related posts
Tags: Future watch, Technology
Recent Comments