ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งที่ซื้อและฉลากสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ก็คือ การประกาศของผู้ผลิตให้ผู้บริโภครับรู้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม บริบทด้านสิ่งแวดล้อมของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ปี 2542 (ค.ศ.1999) เมื่อมีการประกาศใช้ข้อกำหนดมาตรฐานฉลากสีเขียว (Eco labelling) ISO 14024 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากความต้องการของผู้บริโภคนั่นเอง ปัจจุบัน มาตรฐานดังกล่าวมีการปรับปรุงให้ตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคมากขึ้น
ฉลากสีเขียวเกิดขึ้นจากการที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ใส่ใจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่บริษัทต่างๆ ก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและนำไปเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของตนเอง โดยติดฉลากในรูปแบบต่างๆ เช่น มาจากธรรมชาติ รีไซเคิล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลังงานต่ำ เป็นต้น จึงทำให้ผู้บริโภคต่างมองหาสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยมั่นใจในฉลากที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างดังกล่าว
สำหรับมาตรฐาน ISO 14024 Environmental labels and declarations – Type I environmental labelling – Principles and procedures เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในฉลากสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี
สำหรับโครงการฉลากเขียวประเภท 1 คือการประเมินผลิตภัณฑ์โดยบุคคลที่สาม (หน่วยงานที่เป็น Third party) ที่ใช้เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุด้านสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์ของโครงการฉลากเขียวประภทนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ด้วยการระบุผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับเกณฑ์เฉพาะด้านของโครงการประเภท 1 เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยรวม
บียอน เอริค ลอนน์ ผู้ประสานงานของกลุ่มทำงานที่ทบทวนมาตรฐานดังกล่าว อธิบายว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การใช้ฉลากสีเขียว ประเภท 1 (Type I) ได้เพิ่มขึ้นและแนวคิดในปัจจุบันก็กำลังแพร่ขยายไปในหลายประเทศและในตลาดต่างๆ ในรูปแบบของโครงการที่เกิดขึ้นมาจากองค์การสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อม ฉลากสีเขียวที่ใช้ครอบคลุมถึงสินค้าผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มขยายไปในงานบริการมากขึ้น นับตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงบริษัททำความสะอาด ต่างก็สามารถใช้ฉลากสีเขียวด้วยการขอให้บุคคลที่สามเข้าไปทวนสอบตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมให้และยืนยันว่าเป็นไปตามวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนด
ISO 14024:2018 อ้างถึงโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภท 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีการกำหนดหลักการและคู่มือขั้นตอนเพื่อการพัฒนาโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภท 1 รวมถึงการคัดเลือกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เกณฑ์สิ่งแวดล้อมผลิตภัณฑ์ และคุณลักษณะด้านหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ และเพื่อแสดงถึงความสอดคล้อง มาตรฐานนี้ยังกำหนดคู่มือขั้นตอนการดำเนินงานด้านการรับรองเพื่อการติดฉลากด้วย
มาตรฐานฉบับล่าสุดดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างแนวทางที่เข้มแข็งสำหรับข้อเท็จจริงและการทำเอกสารที่ใช้ในฉลากเขียวและกำหนดความสามารถของผู้ทวนสอบ ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของฉลากสีเขียวประเภทอี่นที่กล่าวอ้างในแนวทางของมาตรฐาน ISO 14020
บียอน เอริค ลอนน์ กล่าวว่าหลักการสำคัญและคำอธิบายของมาตฐานฉบับปี 1999 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการอธิบายงานที่ฉลากสีเขียวประเภท 1 ที่ประสบความสำเร็จมาทั่วโลกแล้ว
ISO 14024 ได้กำหนดกรอบการทำงานที่เข้มแข็งและทำหน้าที่เป็นอย่างดีสำหรับฉลากสีเขียวประเภท 1 โดยมี วัตถุประสงค์ในการทำให้ความโปร่งใส มั่นคงและเชื่อถือได้เมื่อนำเอาโครงการฉลากสีเขียวประเภท 1 ไปใช้และเพื่อประสานหลักการและคู่มือขั้นตอนการดำเนินงานที่ปรับใช้กับโครงการเหล่านั้นได้ และท้ายที่สุด เรื่องนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับการมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นอย่างมากและมีความถูกต้อง
ISO 14024:2018 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207, Environmental management, subcommittee SC 3, Environmental labelling ซึ่งมีเลขานุการคือสถาบันมาตรฐานของประเทศออสเตรเลีย (SA)
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าว สามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ https://www.iso.org/standard/72458.html
ที่มา: https://www.iso.org/standard/72458.html
Recent Comments