บทความ เรื่อง ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานเพื่อปรับตัวรับภาวะโลกร้อน ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความพยายามขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิต โดยนับตั้งแต่มีการประชุมเอิร์ธซัมมิทครั้งแรกที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 (ค.ศ.1992) เป็นต้นมา ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมแบบพหุพาคีรวมทั้งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) เมื่อปี 2535 การประชุม COP 21 (ข้อตกลงปารีส) เมื่อปี 2558 การประชุม COP 22 เมื่อปี 2559 หรือการประชุม COP 23 เมื่อปี 2560
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและมาตรฐานไอเอสโอที่กำลังพัฒนาเพื่อเตรียมปรับตัวพร้อมรับภาวะโลกร้อนดังต่อไปนี้ จากการประชุม COP 23 เมื่อปีที่แล้ว มีการเปิดตัวโครงการจำนวนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ ปรับตัวให้เข้ากับโลกของความเป็นจริงในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งมีโครงการหนึ่งที่ช่วยปกป้องคนที่อาศัยอยู่ในเกาะเล็กๆ ที่ช่วยพัฒนารัฐให้สามารถลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อสุขภาพ อีกโครงการหนึ่งก็คือการปรับปรุงความยืดหยุ่นด้านอากาศในภูมิภาคซาเฮลในอัฟริกา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อบริเวณทะเลทรายซาฮารากับทุ่งหญ้าสะวันนาของซูดาน
รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างกำลังนำแผนระดับประเทศไปใช้ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยธุรกิจและอุตสาหกรรมในการรายงานความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอด้วย เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีการเปิดตัวกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเมื่อเดือนมกราคม ปีที่แล้ว เพื่อมีส่วนร่วมในข้อตกลงปารีส พร้อมกับรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากที่กำลังพัฒนาการปรับมาตรการให้เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น จังหวัดเฮียวโกะ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคคันไซและมีเมืองหลวงคือ โกเบ ได้พัฒนาแผนของจังหวัดเพื่อส่งเสริมมาตรการต่อต้านภาวะโลกร้อนซึ่งร่วมมือกับนโยบายระดับประเทศและร่วมรับผิดชอบในเป้าหมายและแผนปฏิบิตการตามกลยุทธ์การปรับตัวในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
และเพื่อทำให้พลเมืองท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับจังหวัดเฮียวโกะ ทางการจึงได้จัดทำการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน ฮิโรชิ โคชิโอะ ผู้อำนวยการกองแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนแห่งจังหวัดเฮียวโกะ กล่าวว่า เพื่อเข้าใจผลกระทบให้ดีขึ้น ก็สามารถพิจารณาถึงมาตรการการปรับตัวของแต่ละบุคคลหรือของท้องถิ่นที่สามารถทำได้รวมไปถึงเป้าหมายสูงสุด และหวังว่าผลลัพธ์จะเชื่อมโยงกับแผนการปรับตัวในอนาคตได้เป็นอย่างดี
แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสม จอห์น ดอร่า แห่งบริษัทที่ปรึกษาจอห์น ดอร่า มีประสบการณ์มากมายในเรื่องนี้ ที่ปรึกษาของรัฐบาล ผู้ออกกฎหมาย ผู้ปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานและผู้ให้บริการในด้านความยืดหยุ่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้กล่าวไว้ ดอร่าเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มงานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207/SC 7 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว
แองเกลียน วอเตอร์ คิดว่าสิ่งนี้มีความจำเป็น มีการลงทุนไปมากกว่าห้าพันล้านปอนด์สเตอร์ลิงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งเฮย์ตันกล่าวว่าปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการวางแผนอนาคตเพื่อดำเนินการในระหว่างปี 2563 – 2568 (ค.ศ.2020-2025) และจะมีการลงทุนมากขึ้นในโครงการที่จำเป็นต่อไปเพื่อให้สามารถปรับตัวเพื่อความท้าทายในเรื่องนี้ และหากบริษัทไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
สำหรับดอร่าแล้ว ความยืดหยุ่นนับเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะเป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเตรียมสมรรถนะเพื่อปรับตัวให้เข้ากับทุกหน้าที่งาน นอกจากนี้ ยังต้องมีความเข้าใจถึงวิธีที่สภาพอากาศในปัจจุบันและในอนาคตมีผลกระทบต่อองค์กร และมีกลยุทธ์เชิงการบริหารจัดการและเชิงปฏิบัติการที่เตรียมพร้อมเพื่อสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
องค์กรจำเป็นต้องมีกลยุทธ์พร้อมเสมอสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าทำได้ จำเป็นต้องทำก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อองค์กร และความจำเป็นทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ต้องทำกันเป็นปกติโดยจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อที่ว่าหากถึงที่สุดแล้ว (หากไม่ทำ) ผลกระทบนี้อาจจะส่งผลต่อสมรรถนะทางการเงินก็เป็นได้ และสิ่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่มาตรฐานจะช่วยจัดการได้
วิสัยทัศน์และกรอบการทำงานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบของภูมิอากาศเพื่อเชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันพร้อมกับมาตรการการปรับตัวสำหรับปฏิบัตการและกลยุทธ์การจัดการขององค์กร ดังนั้น งานที่ไอเอสโอกำลังทำอยู่จึงปรากฏในมาตรฐานสากลของไอเอสโอ ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14090, Adaptation to climate change – Principles, requirements and guidelines ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้องค์กรทุกประเภทมีโครงสร้างที่ช่วยในการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพภูมิอากาศและนำมาตรการไปปรับใช้ในองค์กร
มาตรฐานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กรที่ต้องการทำความเข้าใจถึงความไม่มั่นคง ผลกระทบและความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และทำให้เกิดการปรับปรุงความยืดหยุ่นด้วยการปรับตัวอย่างเหมาะสม สำหรับมาตรฐานที่ช่วยเสริม ISO 14090 เพื่อประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ และความไม่มั่นคง ก็คือมาตรฐาน ISO 14091 และสำหรับมาตรฐานข้อกำหนดทางวิชาการ ISO/TS 14092 สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนก็รวมอยู่ในเรื่องนี้ด้วย
ดอร่าเชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวจะช่วยปิดช่องว่างที่สำคัญ ซึ่ง UNFCCC ได้พัฒนาแนวทางการเตรียมตัวเพื่อโครงการปฏิบัติการปรับตัวในระดับประเทศและแนวทางเชิงวิชาการเพื่อกระบวนการวางแผนการปรับตัวในระดับประเทศเพื่อประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (ประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ)
ทั้งโคชิโอะและแองเกลียน วอเตอร์ต่างเชื่อมั่นว่ามาตรฐานสากลดังกล่าวเป็นเครื่องมืออันทรงคุณค่าในการส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2289.html
Related posts
Tags: Climate Change, Environment, Standardization
ความเห็นล่าสุด