เราจะเชื่อถือระบบความปลอดภัยของอาหารในปัจจุบันได้หรือไม่ และระบบจะมีความยั่งยืนหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการทบทวนมาตรฐาน ISO 22000 อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมมาตรฐานฉบับใหม่จึงเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวให้กับคนทั่วโลกได้ในเวลาที่เหมาะสม
เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไปจนถึงสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงการผลิตอาหารทั่วโลก ทำให้ผู้คนพ้นจากความยากจนและความหิวโหย ซึ่งเป็นข่าวดีแต่ข่าวร้ายก็คือมีการใช้ปุ๋ยและเคมีทางการเกษตรตลอดจนเทคนิคการชลประทานที่มีความซับซ้อนซึ่งทำให้พืชผลมีผลผลิตสูงทั่วโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว แต่ก็ทำให้เรามีปัญหาต่างๆ ตามมาตลอดทั้งซัพพลายเชน
ประชากรมากกว่า 7 พันล้านคนมีการพึ่งพิงผลผลิตเหล่านั้น และองค์การสหประชาชาติคาดว่าตัวเลขจะสูงขึ้นถึง 9.8 พันล้านคนภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และระบบอาหารจะเพิ่มความกดดันให้กับโลกขึ้นอีก ศาสตราจารย์ซาเอ็ด อาซามอาลี ซีอีโอของบริษัท ครอปฟอร์เดอะฟิวเจอร์ ระบุว่าความต้องการอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์จะมีเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ยิ่งเราก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น โดรน เอไอ หุ่นยนต์ เพื่อนำอาหารไปเลี้ยงคนทั้งโลกด้วยวิถีที่ยั่งยืนในราคาที่จับจ่ายได้ และเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้กับโลกของเรา
ประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่สมดุลเป็นเรื่องที่มีการนำไปกล่าวถึงในหัวข้อการประชุมประจำปีพิเศษของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รัฐบาล สังคม พลเมือง และบริษัทเทคโนโลยีอาหารและเนื้อสัตว์ ต่างยอมรับว่ามีความกดดันเพิ่มขึ้นราวสามเท่าจากความต้องการของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพทั่วโลกยังมีการเชื่อมโยงเข้ากับการบริโภคเนื้อสัตว์และโปรตีนที่มากเกินไปหรือไม่ก็น้อยเกินไป รวมไปถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตโปรตีนและเนื้อสัตว์ของโลกด้วย
เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ จึงมีการริเริ่มโครงการที่กำหนดวาระการบริโภคโปรตีนและเนื้อสัตว์ทั่วโลกขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ในราคาที่สามารถซื้อหามาได้และมีทางเลือกที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตด้วย
ธุรกิจใหญ่ๆ ต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้เช่นกัน เช่น อีเกีย กำลังทดลองอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่ แมลง ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่นี้กำลังทดสอบทำอาหารสองอย่าง คือ เบอร์เกอร์แมลง ซึ่งเป็นสูตรที่รวมเอาบีทรูท หัวผักกาดพาร์สนิป และหนอนนก กับฮอทด็อกสาหร่าย ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือแมลงช่วยลดความกดดันเรื่องอาหารของโลก และยังทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย กล่าวคือ นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อียูหรือสหภาพยุโรปคาดว่าจะยอมให้ใช้แมลงเป็นอาหารสำหรับสัตว์ปีกและสุกร
ปัจจุบัน ความจำเป็นสำหรับความมั่นคงด้านอาหารมีมากกว่ายุคใดๆ ในอดีต การเกิดโรคระบาดของอีโคไลในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยงกับภาชนะที่ใช้บรรจุผักกาดโรเมน ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคที่เป็นสถาบันสาธารณสุขชั้นนำของอเมริกา ส่วนหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าคนเกือบ 70% ต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากติดเชื้ออีโคไลและหลายคนเกิดอาการไตวาย นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของมหาวิทยาลัยควีนส์ เบลฟาสต์ระบุว่าไนเตรทที่ใช้ในกระบวนการถนอมเนื้อสัตว์สามารถผลิตสารเคมีที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
นับวันซัพพลายเชนอาหารก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นและความตึงเครียดที่ตามมาได้ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมากมาย เป็นผลให้ทรัพยากรมีจำนวนลดลง ดังนั้น เราจึงสามารถมองเห็นความท้าทายในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในอาหารของโลกและความใส่ใจจากผู้นำในทั่วทุกมุมโลกในการแก้ไขปัญาดังกล่าว
แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอะไรคือวิถีที่ปลอดภัยในระบบของผู้ผลิตอาหารของมนุษย์และอาหารสัตว์ แนวทางแก้ไขปัญหาแนวทางหนึ่งก็คือช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมั่นใจด้วยการนำมาตรฐาน ISO 22000 ไปใช้
ISO 22000 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยอาหาร – ข้อกำหนดสำหรับองค์กรในห่วงโซ่อาหาร อย่างที่เราได้เห็นมาแล้วว่ามีความท้าทายด้านอาหารหลายประการสำหรับผู้ใช้งานตลอดทั้งซัพพลายเชน นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาตรฐานสากลอาหารฉบับแรกเมื่อปี 2548 (ค.ศ.2005)
ยาคอบ ฟาแอเฟอร์มาน ประธานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 34, Food products, และคณะอนุกรรมการที่ 17, Management systems for food safety และซีอีโอของบูโร เวอริทัส นอร์เวย์ อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของมาตรฐาน ISO 22000 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และการอธิบายแนวคิดหลักอย่างชัดเจน เขากล่าวว่ามาตรฐาน ISO 22000 มีการพัฒนาขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรต่างๆ เช่น รัฐบาล ผู้บริโภค ที่ปรึกษา นักวิจัยและผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกกรรม เพื่อตอบสนองตลาดด้านความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี
เขายังระบุด้วยว่าความเชื่อมโยงของมาตรฐาน ISO 22000: 2018 กับมาตรฐานของ Codex Alimentarius นั้น เนื่องจากสถานะของโคเด็กซ์และการอ้างอิงในกฎหมายระดับประเทศ ทำให้มาตรฐาน ISO 22000: 2018 ยังคงเชื่อมโยงกับมาตรฐานโคเด็กซ์อย่างเข้มแข็งซึ่งช่วยให้รัฐบาลทั่วโลกสามารถอ้างอิงไปยังมาตรฐาน ISO 22000: 2018 ในการตรวจสอบของรัฐบาลและในข้อกำหนดระดับประเทศ
เขายังเน้นด้วยว่าความต้องการเฉพาะจากองค์กรความปลอดภัยอาหารมีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงความแตกต่างของนิยามศัพท์ที่สำคัญบางอย่าง เช่น Critical Control Points (CCPs) และ Operational Prerequisite Programmes (OPRPs) ซึ่งรักษาความเชื่อมโยงกับนิยามของโคเด็กซ์ไว้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ฟาแอเฟอร์มานยอมรับว่านี่คือความท้าทายในการค้นหาการยอมรับร่วมกกันสำหรับงานนี้ อย่างไรก็ตาม พวกเขายังทำงานหนักและทุ่มเทให้กับการพัฒนาความแตกต่างที่ชัดเจนเพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้ใช้มาตรฐานต่อไป
ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้เข้าใจมาตรฐาน ISO 22000 มากขึ้น โปรดติดตามตอนจบค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2299.html
Related posts
Tags: ISO22000
ความเห็นล่าสุด