วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นมีเป้าหมายหลัก 17 ข้อเพื่อบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ยูเอ็นบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก็คือ “มาตรฐาน” นั่นเอง
ลำพังแค่มาตรฐานสาขาการผลิตอาหารก็มีมากกว่า1,600 ฉบับแล้ว แน่นอนว่าไอเอสโอมีวิธีการที่ดี แล้วมาตรฐานที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้างและประโยชน์ที่อุตสาหกรรมคาดหวังว่าจะได้รับคืออะไร
ปัจจุบัน เราอยู่ในโลกที่มีประชากรมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเกือบสองพันล้านคน แต่ก็ยังมีประชากรมากกว่า 800 ล้านคนที่ต้องอยู่กับความหิวโหย การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มากถึง 9.7 พันล้านคนในปี 2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งโลกจะต้องเลี้ยงผู้คนที่มีมากกว่าสองพันล้านคนให้ได้ หมายความว่าการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความยั่งยืน และการกระจายอาหารจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของโลกเรา
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) นั้นรวมถึงการยุติความหิวโหยและความยากจนทั่วโลก ซึ่งการมาตรฐานได้มีส่วนสำคัญในความพยายามนี้ ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการในสาขาอาหารจึงเป็นคณะกรรมการวิชาการที่ใหญ่ที่สุดและได้ริเริ่มโครงการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
มีคำถามในรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่า “โลกของเราใกล้จะยุติความหิวโหยหรือยัง” คำตอบคือ หากนับจากจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการแล้ว ประชากรในส่วนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 777 ล้านคนในปี 2015 (พ.ศ.2558) ไปเป็น 815 ล้านคนในปี 2016 (พ.ศ.2559) ขณะเดียวกัน จำนวนคนเป็นโรคอ้วนก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 1975 (พ.ศ.2518) การทำให้มั่นใจว่าอาหารที่มีการผลิตอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วโลกนั้น จึงไม่ใช่งานที่ง่ายเลย
FAO เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามตัวชี้วัดในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ถึง 6 ข้อ คือ เป้าหมายในข้อที่ 2, 5, 6, 12, 14 และ 15 ซึ่งครอบคลุมเรื่องการยุติความหิวโหย การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การปกป้องป่าและมหาสมุทร ทั้ง 6 ข้อนี้เป็น SDGs สำหรับบริษัทด้านอาหาร นอกจากนี้ SDG 3 ยังทำให้มั่นใจในการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพของประชากรทุกวัย
มีเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ อีก 4 ประการที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันในอุตสาหกรรมการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น SDG 9 ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่มีความยั่งยืน SDG 13 เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติการในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG 8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ SDG 17 เรียกร้องให้ทั่วโลกสร้างความร่วมมือด้วยความเข้มแข็งในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
จากประวัติอันเข้มข้นและยาวนานของมาตรฐานสากลซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกเพื่อช่วยให้รัฐบาล อุตสาหกรรม และลูกค้ามีส่วนร่วมใน SDG จะพบว่าไอเอสโอได้สนับสนุนมาตรฐานมากกว่า 1600 ฉบับสำหรับสาขาการผลิตอาหาร ซึ่งมาตรฐานเหล่านั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารและปรับปรุงวิธีการทางการเกษตร
เพื่อให้มาตรฐานเหล่านั้นช่วยให้องค์กรจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการตัดสินใจด้านการจัดซื้ออย่างมีจริยธรรมและมีความยั่งยืน และลดของเสียได้ คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอจึงได้ทำงานควบคู่ไปกับเป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติเพื่อพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นได้อย่างไร
ไอเอสโอยังมีองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนามาตรฐานอาหารร่วมกันอีกองค์กรหนึ่ง จะเป็นองค์กรใดและมีบทบาทอย่างไร โปรดติดตามบทความในครั้งต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2307.html
Related posts
Tags: Standardization, Sustainability, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด