บนอวกาศมีความกว้างใหญ่ไพศาล และมียานอวกาศรวมทั้งดาวเทียมเล็กๆ ต่างขึ้นไปล่องลอยอยู่บนอวกาศอยู่จำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตยานอวกาศและดาวเทียมมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งทะยานขึ้นไปอีกในอนาคต
จากรายงานของสเปซเวิร์คซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการสำรวจและประเมินกิจกรรมด้านอวกาศ ระบุว่าอุตสาหกรรมดาวเทียมขนาดเล็กได้มีการมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบเทคโนโลยีอวกาศและการบินสมัยใหม่ และเมื่อปีที่แล้ว มีดาวเทียมขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น ถึง 205% และยังมีดาวเทียมขนาดเล็กอื่นๆ กำลังรอเปิดตัวอยู่ด้วย
แต่การผลิตจำพวกยานอวกาศเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงซึ่งผู้ผลิตหน้าใหม่ที่จะเข้าไปในตลาดอาจจะยังไม่ตระหนักถึงข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมขนาดเล็กให้มีแนวทางอย่างชัดเจน ไอเอสโอจึงได้พัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานสากลสำหรับยานอวกาศขนาดเล็กซึ่งระบุข้อกำหนดขั้นต่ำที่จะช่วยให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้อย่างสอดคล้องไม่ว่ายานลำนั้นจะมีภารกิจในแบบใดก็ตาม
มาตรฐานสากล ISO/TS 20991: 2018 , Space systems – Requirements for small spacecraft เป็นมาตรฐานที่ให้ข้อกำหนดสำหรับขั้นตอนต่างๆ ของวงจรชีวิตระบบยานอวกาศขนาดเล็ก ซึ่งในมาตรฐานนี้ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ไอเอสโอจึงใช้คำว่า small spacecraft แทนคำที่คนส่วนใหญ่ใช้แตกต่างกันไป เช่น mini spacecraft, micro spacecraft, nano- spacecraft, pico spacecraft, femto-spacecraft และ CubeSat เป็นต้น
พอล กิลล์ ประธานของคณะอนุกรรมการวิชาการที่พัฒนาเอกสารดังกล่าวระบุว่ามียานอวกาศขนาดเล็กประมาณ 2,600 ลำที่จะเปิดตัวในอีก 5 ปีข้างหน้าและหลายลำสร้างโดยผู้ผลิตรายเล็ก
มาตรฐาน ISO/TS 20991 จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้พัฒนายานอวกาศขนาดเล็กรวมทั้งผู้ปฏิบัติงานที่ทำการปล่อยยานอวกกาศขึ้นไปบนอวกาศ ซึ่งการมีข้อกำหนดขั้นต่ำจะช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยและลดการปะทะกับชิ้นส่วนที่ลอยอยู่ในอวกาศได้
มาตรฐานนี้ครอบคลุมทุกอย่างนับตั้งแต่การออกแบบ การปล่อยตัว การใช้งาน การปฏิบัติการ และการทิ้งของเสีย ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆ และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมีวิธีการที่จะเข้าถึงอวกาศได้อย่างปลอดภัย
มาตรฐาน ISO/TS 20991 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ committee ISO/TC 20, Aircraft and space vehicles คณะอนุกรรมการที่ 14 SC14, Space systems and operations ซึ่งมีเลขานุการคือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (ANSI)
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2315.html
Related posts
Tags: ISO, safety, space craft, Standardization
Recent Comments