โลกของเราต่างเผชิญหน้ากับปัญหาคลื่นความร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ในปี 2561 ทวีปยุโรปได้ประสบปัญหาคลื่นความร้อนในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจนทำให้เกิดไฟป่าขึ้นในหลายพื้นที่ และจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าหากยังคงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นต่อไป จะทำให้ประชากรโลกต้องประสบปัญหาคลื่นความร้อนถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรงภายในปีพ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100)
แนวทางแก้ไขปัญหาเดียวที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็คือการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องมีการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เสียก่อน ล่าสุด ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานสากลที่ใช้ในการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
จากข้อมูลขององค์กรเครือข่ายฟุตพริ้นท์สากล พบว่าองค์กรวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรสากลได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านความยั่งยืนซึ่งทำให้โลกของเราได้รับประโยชน์มาก และหากเรายังคงบริโภคทรัพยากรของโลกในอัตราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน อีกไม่นาน ทรัพยากรของโลกจะไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรในโลกทั้งหมด
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคที่มากเกินไปของมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิอากาศ ปริมาณน้ำและอาหารที่ไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็คือการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ISO 14067: 2018, Greenhouse gases – Carbon footprint of products – Requirements and guidelines for quantification เป็นมาตรฐานที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงและได้รับการตีพิมพ์เป็นมาตรฐานสากลซึ่งให้หลักการ ข้อกำหนด และแนวทางสำหรับการวัดปริมาณและการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ทำให้องค์กรมีวิธีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และมีความเข้าใจที่ดีขึ้นสำหรับวิธีการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ISO 14067: 2018 จะใช้แทนที่ข้อกำหนดทางวิชาการของ ISO/TS 14067:2013 ซึ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัยหลังจากตลาดเริ่มส่งสัญญาณว่ามีความต้องการใช้เอกสารในเชิงลึกมากขึ้น
แดเนียล เพอร์นิก็อททิ ผู้ประสานงานของกลุ่มงานที่พัฒนามาตรฐานกล่าวว่าการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นการพิจารณาภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งเป็นวิธีหลักของการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของสากล
มาตรฐานนี้ทำให้องค์กรมองเห็นได้อย่างแม่นยำว่าผลกระทบหลักของคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดขึ้นที่ไหนซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงสามารถลงมือปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเกี่ยวข้องกับเรื่องวัตถุดิบ จะสามารถตรวจสอบการใช้งานต่างๆ ได้ หรือถ้าเกี่ยวข้องกับการขนส่ง ก็จะสามารถมองเห็นการปรับปรุงรูปแบบของโลจิสติกส์และตรวจสอบซัพพลายเออร์หรือผู้กระจายสินค้าที่อยู่ใกล้บ้านมากกว่าได้ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ของข้อกำหนดทางวิชาการรวมถึงการเน้นไปที่การวัดปริมาณมากกว่า รวมทั้งหัวข้ออื่นๆ ด้วย เช่นการสื่อสารกับมาตรฐานในกลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้มีความกระจ่างชัดมากขึ้นในขอบข่ายของแง่มุมต่างๆ เช่น การคำนวณการใช้ไฟฟ้า และการแนะนำแนวทางที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผลิตภัณฑ์ป่าไม้และเกษตรกรรม
ISO 14067 เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมาตรฐาน 14060 ที่ใช้สำหรับการวัดปริมาณ การติดตามและการรายงานรวมทั้งการทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
มาตรฐาน ISO 14067 ได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มงาน WG 8 ของคณะทำงานวิชาการของไอเอสโอ ISO/TC 207, Environmental management คณะอนุกรรมการที่ 7 Greenhouse gas management and related activities โดยมีเลขานุการคือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศแคนาดา (SCC) และสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีน (SAC)
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ https://www.iso.org/store.html
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2317.html
Related posts
Tags: Climate Change, Energy, Standardization
Recent Comments