หลังจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นระเบิดลูกแรกของโลกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 (ค.ศ.1945) ที่ทรินิตี้ ประเทศเม็กซิโกแล้ว ก็มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกถึงเกือบ 2,000 ครั้ง
ในระยะแรกๆ ที่มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ค่อยมีใครนึกถึงผลกระทบที่มีต่อชีวิตมนุษย์เท่าใดนัก แต่อันตรายของมันยังมีอานุภาพทำลายล้างสิ่งต่างๆ และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ผลของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างมากมาย ทำให้ต้องมีการสังเกตการณ์ในวันสากลแห่งการต่อต้านการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้โลกของเราได้เรียนรู้และให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็น ความสำคัญ และมีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นอีก
เครื่องมือระดับสากลที่จะช่วยยุติทุกรูปแบบของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ก็คือ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์สากลที่เรียกว่า 1996 Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty (CTBT)
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีการประกาศให้วันที่ 29 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสากลแห่งการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการมีฉันทามติ รับเอาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า resolution 64/35 ไปใช้
แนวทางการแก้ไขปัญหาคือการเรียกร้องให้เพิ่มความตระหนักและมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการระเบิดจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์หรือการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ และความจำเป็นที่จะต้องยุติการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายโลกที่ปราศจาการอาวุธนิวเคลียร์ได้
ย้อนไปในปี 2492 (ค.ศ.1949) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ทหารของสหภาพโซเวียตได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์ที่เซมิพาลาทินสค์ คาซัคสถานและครึ่งหนึ่งของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตได้เกิดขึ้นที่นี่ พร้อมกับทิ้งบาดแผลทั้งกายและใจไว้ให้กับคนในพื้นที่นั้นในเวลาต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยผู้รอดชีวิตมีอาการที่คล้ายคลึงกับผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมิรกาที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2534 (ค.ศ.1991) สาธารณรัฐคาซัคสถานร่วมกับผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมากจึงได้ริเริ่มการจัดงานรำลึกถึงการปิดสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่เซมิพาลาทินสค์ ซึ่งทำให้องค์การสหประชาชาติ สมาชิกของรัฐต่างๆ องค์กรรัฐบาลระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา เครือข่ายเยาวชนและสื่อต่างๆ ให้การสนับสนุนการต่อต้านการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญอันมีค่ายิ่งที่จะทำให้โลกของเรามีความปลอดภัยจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ปี 2553 (ค.ศ.2010) ถือเป็นปีแห่งการรำลึกถึงวันสากลแห่งการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการสังเกตการณ์ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี เช่น การประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดนิทรรศการ การเผยแพร่เอกสาร การบรรยายในสถาบันการศึกษา การกระจายเสียงของสื่อต่างๆ และโครงการอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าโดยมีการเจรจาในระดับระหว่างรัฐบาลและการเจรจาในระดับหลายรัฐบาลรวมถึงความเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางของสังคมพลเมืองอันมีช่วยให้มีความก้าวหน้าในความพยายามที่จะยุติการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด เป็นการรับประกันว่าจะไม่มีการใช้หรือการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 26 กันยายนเป็นวันสากลเพื่อการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดซึ่งอุทิศให้กับวัตถุประสงค์ในการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ผ่านการขับเคลื่อนความพยายามในระดับสากล
สำหรับการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา (A/RES/ 68/32) เมื่อเดือนตุลาคม 2556 (ค.ศ.2013) เป็นการติดตามผลการประชุมระดับสูงเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ในที่ประชุมสมัชชาสามัญขององค์การสหประชาชาติ
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติยอมรับวาระการปลดอาวุธใหม่ว่าเป็นการทำให้อนาคตร่วมกันของโลกมีความมั่นคงซึ่งเป็นการประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกไม่ต้องการให้มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมทั้งต้องมีการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยเลิกที่จะยื้อเวลาของการปลดอาวุธออกไป
มาตรการการยุติการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างรัดกุมเป็นการจำกัดการพัฒนาไม่ให้เกิดอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ๆ และยังเป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันไม่ให้รัฐที่อำนาจซึ่งอาจต้องการพัฒนาและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ สามารถหาอาวุธนิวเคลียร์มาใช้งานได้
ดังนั้น จึงโลกจึงจำเป็นต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธ CTBT และเลขาธิการสหประชาชาติก็ได้วิงวอนให้รัฐที่เหลือจำเป็นต้องเข้าร่วมในสนธิสัญญาดังกล่าวเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าหากว่ายังไม่ได้เข้าร่วม และเพื่อเร่งให้เกิดการให้สัตยาบันโดยสมบูรณ์
องค์การสหประชาชาติ จึงตั้งความหวังไว้ว่าวันหนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดจะถูกกำจัดให้สิ้นไป ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสังเกตการณ์วันสากลแห่งการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่องค์การสหประชาชาติกำลังทำอยู่เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลก ซึ่งโครงการอย่างวันสากลแห่งการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกในการทำให้โลกของเราปราศจากอาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง
ที่มา:
1. http://www.un.org/en/events/againstnucleartestsday/
2. http://carnegieendowment.org/2011/08/29/semipalatinsk-from-nuclear-testing-site-to-test-ban-treaty-support-pub-45434
Related posts
Tags: Future watch, Management Strategy, Strategic Management
Recent Comments