MASCI Innoversity เคยนำเสนอบทความเรื่อง โซล่าอิมพัลส์ บินรอบโลกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มาแล้ว ซึ่งเมื่อปีที่แล้วแบร์ทรองค์ ปิคการ์ และอังเดร บอร์สช์เบิร์ก ได้เดินทางโดยเครื่องบินที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ลำแรกของโลกโดยไม่ใช้น้ำมันเป็นระยะทางประมาณสี่หมื่นกิโลเมตร
สำหรับแบร์ทรองค์ ปิคการ์ (นักบินชาวสวิสผู้สร้างเครื่องบินโซล่าอิมพัลส์ร่วมกับนักบินร่วมของเขา นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร นอกจากนี้ ยังเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การสหประชาชาติด้วย) ได้ไปกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ไอเอสโอจำนวนกว่า 500 คนจากกว่า 150 ประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรด้านการมาตรฐานและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ในการประชุมสมัชชาสามัญไอเอสโอครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24 – 28 กันยายน 2561
เขากล่าวในงานดังกล่าวว่า เราจำเป็นต้องให้ความสนใจในสิ่งที่คนอื่นๆ กำลังทำอยู่ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดก็ตาม ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานด้วยวิธีคิดในแบบอื่นๆ ซึ่งเขาหมายถึงวิธีที่องค์กรจะสามารถสร้างนวัตกรรมและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้
และสำหรับปีนี้ มีวาระที่ให้ความสำคัญในการประชุม คือ การส่งเสริมความก้าวหน้าของวาระระดับโลกซึ่งให้ความสำคัญกับวิธีที่มาตรฐานสากลจะสามารถรวมพลังเพื่อเอาชนะความท้าทายของโลกครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และความยากจน
จอห์น วอลเตอร์ ประธานไอเอสโอ กล่าวว่างานดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมเมื่อโลกกำลังต้องการมาตรฐานไอเอสโอมากขึ้น ไอเอสโอไม่ได้สร้างกำแพง แต่กำลังสร้างสะพาน ไอเอสโอไม่ได้สร้างศัตรู แต่กำลังพัฒนาเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ ไอเอสโอไม่ได้ส่งเสริมการแบ่งแยกและการโดดเดี่ยวจากส่วนที่เหลือของโลก แต่กำลังสร้างหุ้นส่วนร่วมกัน และสมาชิกไอเอสโอก็มีโอกาสที่ไม่เหมือนใครและมีภาระผูกพันในการแสดงให้โลกเห็นว่าไอเอสโอสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ด้วยการทำงานร่วมกันได้เพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งโลก
ในการกล่าวเปิดงานดังกล่าว เซอร์จิโอ มูจิก้า เลขาธิการไอเอสโอได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานสากลว่าเป็นการจัดเตรียมแพลตฟอร์มที่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมได้
เครื่องมือหลักที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ได้ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ถือเป็นจุดเน้นหลักของงานในปีนี้ด้วย โดยไอเอสโอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเป้าหมายดังกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ และในปีนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้ริเริ่มการพัฒนาโรดแมปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย องค์กรและธุรกิจต่างๆ ในเรื่องของการนำมาตรฐานสากลไปใช้งานและช่วยให้ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ดังนั้น ไอเอสโอ จึงได้กำหนดการประชุมในวาระดังกล่าวร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งนำเสนอโดย United Nations Economic Commission for Europe: UNECE เพื่ออภิปรายถึงวิธีการที่ผู้ควบคุมกฎ ธุรกิจ และนักการมาตรฐานจะสามารถทำงานร่วมกันโดยยังคงมีส่วนร่วมในการก้าวไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไอเอสโอได้ได้เปิดตัวเว็บไซต์ที่มีเครื่องมือสำหรับการวางแผนงานด้านมาตรฐานมากกว่า 600 ฉบับที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งใจที่จะตอบสนองในเรื่องทรัพยากรอันมีค่าสำหรับองค์กรที่ต้องการมีบทบาทในเรื่องดังกล่าว
สำหรับวิทยากรรับเชิญในงานประชุมสมัชชาสามัญไอเอสโอดังกล่าว รวมถึง ชอง ปิแอร์ เร มองด์ ทูตถาวรขององค์การสหประชาชาติจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อลัน วอล์ฟฟ์ รองเลขาธิการองค์การการค้าโลก ซึ่งกล่าวถึงวิธีที่มาตรฐานช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ และฟิลิปโป เว็กกลิโอจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ซึ่งกล่าว่ถึงวิธีที่มาตรฐานมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุมเชิงปฏิบัติการและการอภิปรายในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวยังมีการพูดคุยถึงแนวโน้มของการค้าระหว่างประเทศและบทบาทของมาตรฐาน มาตรฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยยกระดับความตระหนักในเรื่องวาระ 2030 ให้กับคนทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนมาตรฐานให้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้กำหนดนโยบาย สังคมพลเมือง หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2328.html
2. https://ga2018.iso.org/files/live/sites/ga2018/files/programme/Standards-SDGs.pdf
Related posts
Tags: ISO, standard, Standardization
Recent Comments