บทความ เรื่อง ก้าวสู่โลกอนาคตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเรื่องของเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งไอเอสโอได้มีส่วนสำคัญในการวางกรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมเรื่องของน้ำเสียและน้ำดื่มตามมาตรฐาน ISO 24511 (Activities relating to drinking water and wastewater services – Guidelines for the management of wastewater utilities and for the assessment of wastewater services) และ ISO 24512 (Activities relating to drinking water and wastewater services – Guidelines for the management of basic on-site domestic wastewater services)
แล้วโลกของเราบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วหรือยัง ความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ดร.การีออง เกรสโป ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ข้อมูลเริ่มแรกที่มีการรวบรวมไม่ได้ระบุถึงความก้าวหน้าเอย่างเพียงพอสำหรับการเข้าถึงน้ำและการสุขาภิบาลที่ดีภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลยังคงจำเป็นที่จะต้องใช้เจตนารมณ์ทางการเมืองเข้ามาช่วยสร้างพลังในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำใช้และการสุขาภิบาลที่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานและลูกจ้างในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำเพื่อให้มีทุกฝ่ายเข้ามาส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
ดร.เอลลิสันกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายเรื่องการมีน้ำดื่มที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) เหตุผลนั้นมีสองด้าน คือการเติบโตของประชากรและการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย
นอกจากนี้ เขายังมีมุมมองที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับเป้าหมายด้านคุณภาพน้ำและการลดมลพิษซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีในเรื่องการลงทุนของอุตสาหกรรม เป้าหมายสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันเป็นเรื่องที่ยากพอๆ กันซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แต่อุปสรรคสำคัญคือการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการและทรัพยากรจำนวนมากซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศไม่มี ความจริงก็คือพวกเขามักไม่รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อติดตามปัญหาเรื่องน้ำก่อนที่จะร้องขอความช่วยเหลือซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน
และเงินลงทุนนั้นบางครั้งก็เป็นตัวแทนของภัยคุกคามที่มีต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 (ค.ศ.2008) เท่าใดนัก จึงมีความยากลำบากที่จะแน่ใจว่าโลกของเราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์
ถึงแม้จะมีความยากลำบากในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องหาความสัมพันธ์ในการนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ซึ่งหมายถึงการก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนซึ่งมีประเด็นที่หลากหลายในหัวข้อที่ 6 เรื่องการจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)
ประชากรที่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิงซึ่งถูกบังคับให้ขนส่งลำเลียงน้ำ เป็นผู้ที่ทำงานหนักและได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาและการมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งเกี่ยวพันถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Quality) ตลอดจนเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being), ข้อที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water) และข้อที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land) ด้วย
ดังนั้น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) นั้น โดยตัวของมันเองจึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เพราะหมายถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งหมดนั่นเอง และจะต้องอาศัยปัจจัยสองอย่าง ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ผู้ผลิต และผู้บริโภค กับเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ซื่อตรงและแน่วแน่ โลกของเราจึงจะก้าวไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
Recent Comments