บทความเรื่อง ไอเอสโอส่งเสริมคนทั่วโลก “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงองค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของไอเอสโอได้มีความพยายามในการส่งเสริมให้ประชากรทั่วโลกมีสุขภาพดีถ้วนหน้ามากกว่า 70 ปีผ่านการขับเคลื่อนโครงการ Universal Health Coverage (UHC) ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมในคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประมาณ 40 คณะ และไอเอสโอได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์สัมภาษณ์ฟรังซัว-ซาวีเยร์ เลอรี ผู้ประสานงานด้านกฎระเบียบและมาตรฐานด้านเทคโนโลยีขององค์การอนามัยโลกถึงความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและไอเอสโอว่า UHC เปรียบเสมือนเสาหลักของการทำงานเพื่อให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ
สำหรับบทความในตอนนี้ จะกล่าวถึงบทสัมภาษณ์ฟรังซัว-ซาวีเยร์ เลอรี ว่าการที่องค์การอนามัยโลกมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานสากลในคณะกรรมการวิชาการประมาณ 40 คณะ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้างต่อองค์การอนามัยโลก และอนาคตของเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 3 (การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี)จะเป็นอย่างไร
เขากล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้พัฒนากฎระเบียบเกี่ยวกับยา วัคซีน และเภสัชกรรม ซึ่งใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ในโครงการขององค์การอนามัยโลกโดยเฉพาะเท่านั้น โดยมีการสร้างขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อโดยองค์การสหประชาชาติมีคุณภาพที่มั่นใจได้และมีประสิทธิผลตามที่ต้องการ โครงการขององค์การอนามัยโลกได้มีส่วนร่วมในแง่ที่ว่าประชากรโลกสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพในราคาที่สามารถซื้อหามาได้ และประชากรในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน
ในเรื่องทางเทคนิควิชาการบางเรื่อง องค์การอนามัยโลกต้องอาศัยความร่วมมือกับไอเอสโอ เช่น การพัฒนาและการรักษาไว้ซึ่งมาตรฐาน ดังนั้น ความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรจึงรับประกันได้ว่ามาตรฐานที่ออกแบบมาภายใต้กรอบการทำงานของไอเอสโอมีความเหมาะสมกับการใช้งานของทุกประเทศ รวมทั้งประเทศที่มีการเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ยาก ประเทศเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวแทนในคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ แต่องค์การอนามัยโลกได้ทำให้มั่นใจได้ว่าเสียงของประเทศเหล่านั้นไม่ได้ถูกละเลยแต่มีการนำมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานด้วยและทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพได้
ส่วนความร่วมมือระหว่างสององค์กรจะมีส่วนร่วมอย่างไรต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อที่ 3 (การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) ขององค์การสหประชาชาตินั้น ฟรังซัว-ซาวีเยร์ เลอรีกล่าวว่า ความร่วมมือนี้สามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมของผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิต และมืออาชีพด้านการดูแลสุขภาพ ในงานด้านการมาตรฐานของไอเอสโอเพื่อความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
กระบวนการด้านการมาตรฐานที่เข้มแข็งที่ไอเอสโอทำการติดตามอยู่นั้น บางครั้งก็ถูกมองจากประเทศเหล่านั้นว่าไอเอสโอทำตัวเป็นองค์กรที่จุกจิก เรื่องมาก แต่ความร่วมมือที่ดีระหว่างองค์การอนามัยโลกและไอเอสโอได้ทำให้การพัฒนามาตฐานไอเอสโอง่ายขึ้นในภาพรวม และยังทำให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างข้อกำหนดที่มีการบังคับใช้กับมาตรฐานทางวิชาการได้เป็นอย่างดีพร้อมกับมุมมองที่จะส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
แล้วทำไมมาตรฐานไอเอสโอจึงมีความสำคัญมากเช่นนั้น มาตรฐานไอเอสโอก็เหมือนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือมีการทำขึ้นมาเพื่อใช้งาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ถือหุ้นและองค์กรด้านการมาตรฐานมีการลงทุนทั้งเวลาและความพยายามในการพัฒนามาตรฐานขึ้นมาเพื่อนำไปใช้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในทุกประเทศ นับตั้งแต่มุมมองของการแข่งขันทางธุรกิจ ไปจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทำให้มั่นใจว่าบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพมีคุณภาพที่ดี ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การใช้มาตรฐานที่เหมาะสมจะช่วยให้มีการติดตามผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้มั่นใจว่าการทบทวนมาตรฐานเป็นไปอย่างเหมาะสมตามเงื่อนไขของเวลา
องค์การอนามัยโลกยังให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญของการนำมาตรฐานไปใช้เช่นเดียวกับไอเอสโอ อันที่จริงแล้ว แผน 5 ปีฉบับใหม่ระหว่างปี 2019-2023 (2562 – 2566) ยังรวมถึงกิจกรรมที่ติดตามการใช้กฎระเบียบขององค์การอนามัยโลกและมาตรฐานเพื่อกระตุ้นให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อประชากรโลกด้วย
สุดท้ายนี้ ฟรังซัว-ซาวีเยร์ เลอรี กล่าวว่าสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือการทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อ 3 เกิดขึ้นจริง สำหรับ UHC มีหลักการอยู่ว่าต้องมีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในระดับสากล ซึ่งมีความปลอดภัย มีประสิทธิผล และคนทั่วไปสามารถซื้อหามาได้ และสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นได้หากโลกของเราไม่มีการประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะส่งมอบให้กับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ควบคุมกฎ และองค์กรที่กำหนดมาตรฐานในประเทศต่างๆ มีความร่วมมือในการทำงานกันอย่างใกล้ชิด และประสบการณ์ของทั้งสององค์กรดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการบรรลุเป้าหมายร่วมกันจะเกิดขึ้นได้เมื่อความร่วมมือมีความเข้มแข็งจริงจัง ซึ่งองค์การอนามัยและไอเอสโอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือที่เข้มแข็งของทั้งสององค์กรจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทั่วโลกภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ได้ในที่สุด
ที่มา: 1. https://www.posttoday.com/social/general/529529
2. https://www.iso.org/news/ref2373.html
Related posts
Tags: Standardization, Sustainability, Sustainability Management
ความเห็นล่าสุด