จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าคนทั่วโลกมีการเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 16 ล้านครั้งในทุกปี และทุกครั้งที่เข้ารับวัคซีน หากมีการใช้ซ้ำสำหรับกระบอกฉีดยาหรือ “ไซริง” ก็จะยิ่งมีเพิ่มความเสี่ยงขึ้น ซึ่งบางประเทศประสบปัญหาในเรื่องนี้ ไอเอสโอตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี จึงได้แก้ไขด้วยการพัฒนามาตรฐานกระบอกฉีดยาที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว และการพัฒนากลุ่มข้อกำหนดของมาตรฐานที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มฉีดยาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งมาตรฐานบางฉบับยังได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้นด้วย
จากการศึกษาเมื่อปี 2557 (2014) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกที่ได้ให้ความสนใจในเรื่องข้อมูลที่มีอยู่เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประมาณการว่าในปี 2010 มีคนถึง 1.7 ล้านคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและมีคนถึง 315,000 คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี และมีคนจำนวน 33,800 คนที่ติดเชื้อเอชไอวีจากเข็มฉีดยา ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว การฉีดยาจะมีการกระทำอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงปลอดภัยเป็นหลัก วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ทั่วโลกมีความแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ฉีดยาซ้ำ การจัดการกับเข็มฉีดยาหลังการใช้งาน และการทำความสะอาดอย่างไม่เหมาะสมยังคงสร้างปัญหาอยู่ในบางภูมิภาคของโลก
ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2543 (พ.ศ. 2000) องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์โครงการสร้างความปลอดภัยในการฉีดยาในชื่อโครงการ WHO Injection Safety Programme และ the Safe Injection Global Network (SIGN) เพื่อให้ประชากรโลกได้รับการฉีดยาหรือวัคซีนอย่างปลอดภัย ซึ่งในตอนเริ่มต้นโครงการ มีการฉีดยาประมาณ 40 % ที่มีการใช้อุปกรณ์ซ้ำซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี และมีคนอีกนับแสนคนที่ติดเชื้อเอชไอวี
โครงการขององค์การอนามัยโลกได้นำไปสู่การพัฒนาการออกแบบกระบอกฉีดยาขึ้นมาใหม่ด้วยรูปลักษณ์ที่มีการกล่าวว่าหลังจากใช้งานแล้วจะไม่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ไอเอสโอเคยพัฒนามาตรฐานชนิดของกระบอกฉีดยาแบบเดิมที่ไม่ใช่แบบใช้แล้วทิ้งมาแล้ว และขยายไปสู่ชุดมาตรฐานแบบใหม่สำหรับกระบอกฉีดยาแบบที่ใช้แล้วจะไม่สามารถนำมาใช้งานซ้ำได้อีก
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอในด้านระบบการฉีดยายอมรับว่าการใช้กระบอกฉีดยาซ้ำไม่เพียงแต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่การติดเชื้อโดยบังเอิญจากเข็มฉีดยาก็เป็นอันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งบุคคลที่เข้ามาสัมผัสเข็มฉีดยานั้นด้วย นอกจากนี้ หากบุคคลอื่นบังเอิญเข้ามาสัมผัสกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีลักษณะแหลมคม ก็จะเกิดอันตรายเช่นกัน
จากโครงการขององค์การอนามัยโลก คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องกระบอกฉีดยาเคยติดตามตรวจสอบกระบอกฉีดยาที่ใช้แล้วและพบความจริงที่ว่ามาตรฐานที่มีอยู่เดิมคือ ISO 7886-1, ISO 7886-2 และ ISO 7864 ไม่ได้เน้นถึงความเสี่ยงของการใช้ซ้ำโดยเฉพาะ คณะกรรมการจึงเห็นพ้องต้องกันว่าการพัฒนามาตรฐานใหม่ควรจะลดความเสี่ยงเหล่านั้นลง และป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี และเชื้อเอชไอวี) จากการใช้กระบอกฉีดยาด้วย
แม้ว่างานด้านการมาตรฐานในสาขาดังกล่าวจะเริ่มต้นเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับวิธีปฏิบัติในการฉีดยาที่ต้องมีความปลอดภัยสำหรับคนทั่วโลกด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่องค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้กระบอกฉีดยาแบบใช้ซ้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนาอย่างอย่างยืนขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ประชากรโลกจะต้องมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยจะยุติโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อน รวมทั้งต่อสู้กับโรคไวรัส โรคที่มีเกิดจากน้ำซึ่งเป็นสื่อของการแพร่กระจายหรือปนเปื้อน รวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ ให้ได้
วิลเลียม ดีริค เป็นผู้ริเริ่มนำงานการพัฒนามาตรฐานกระบอกฉีดยาแบบที่ใช้แล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 84, Devices for administration of medicinal products and catheters เขากล่าวว่าปรัชญาของคณะกรรมการนี้คือการทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและมั่นใจว่าข้อกำหนดของมาตรฐานมีความทันสมัย
รายละเอียดของการพัฒนามาตรฐานจะเป็นอย่างไร มีองค์กรใดที่เข้ามาช่วยพัฒนามาตรฐานบ้าง โปรดติดตามต่อในตอนต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2371.html
Related posts
Tags: Health, Quality, Standardization
Recent Comments