องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้วันที่ 28 เมษายนของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ซึ่งในปีนี้ ILO ให้ความสำคัญกับโลกอนาคตของการทำงานและทำให้เราระลึกถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาของไอเอสโอในการต่อสู้กับภัยอันตราย โรคภัย และการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานด้วย
สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานมักไม่ได้เป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่คิดถึงเวลาทำงาน แต่ข้อเท็จจริงคือคนทั่วโลกอาจตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงาน แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจังแล้ว ก็จะช่วยให้เราไม่ตกอยู่ในอันตรายระหว่างความเป็นและความตายได้
เนื่องจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศมีเป้าหมายในการยกระดับความตระหนักถึงความสำคัญของวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ดังนั้น ในโอกาสวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลในปีนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงเน้นการสร้างวัฒนธรรมในการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายในสถานที่ทำงาน โดยมองไปยังอนาคตของการทำงานที่ต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของโลกยุคใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เป็นต้น
เพื่อช่วยให้องค์กรลดการบาดเจ็บ โรคภัย และอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานสากลฉบับแรกของโลกในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย คือ ISO 45001, Occupational health and safety management systems – Requirements with guidance for use ซึ่งให้แนวทางกรอบการทำงานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานที่ทำงานตลอดจนสนับสนุนความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน ซึ่งส่งเสริมให้องค์กรมีการปรับปรุงสมรรถนะด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในเชิงรุก แต่ไม่ได้เน้นถึงประเด็นอื่นๆ ที่มากไปกว่าความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ความเสียหายของทรัพย์สิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
มาตรฐานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร โดยไม่คำนึงถึงขนาด ประเภทของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเนื่องจากมาตรฐานมีการออกแบบให้สามารถนำไปใช้ร่วมกับกระบวนการบริหารจัดการที่มีอยู่ขององค์กรและเป็นไปตามโครงสร้าง HLS เช่นเดียวกับมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ เช่น มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ ISO 9001, มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นต้น
ไอเอสโอมีแนวทางหลายประการสำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานดังปรากฏอยู่ในการทำงานของคณะกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการวิชาการหลายคณะ รวมทั้งมาตรฐานไอเอสโออื่นๆ ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้และเพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพในการทำงานได้ มาตรฐานเหล่านั้นมีการเน้นในหัวข้อต่างๆ เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันเพื่อความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟและป้องกันไฟ อุปกรณ์สำหรับการเชื่อม แทรคเตอร์และเครื่องจักรเพื่อการเกษตรและป่าไม้ ข้อกำหนดด้านความสามารถสำหรับผู้ตรวจสอบเครน การจัดการความเสี่ยงในสถานที่ทำงานที่มีอากาศเย็น การรีไซเคิลเรือที่ปลอดภัยมากขึ้นและการผลิตและการจัดการกับวัสดุนาโน เป็นต้น
ในอนาคต มาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานจะมีการขยายขอบเขตออกไปถึงเรื่องของสุขภาพจิตด้วย ตามมาตรฐานที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ คือ ISO 45003, Occupational health and safety management – Psychological health and safety in the workplace – Guidance ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 (ค.ศ.2021) มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของโลกอนาคต จึงไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัยทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องของสุขภาพจิตด้วย ซึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานโดยเริ่มต้นจากการนำมาตรฐาน ISO 45001: 2018 ไปใช้ได้ตั้งแต่บัดนี้
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2385.html
2. https://www.iso.org/standard/63787.html
Related posts
Tags: ISO 45001, Occupational Health & Safety, Standardization
ความเห็นล่าสุด